ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

เคล็ดลับการดูแลตัวเอง เพื่ออยู่กับผู้ป่วยอัลไซเมอร์แบบสุขภาพดีทั้งกายและใจ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
21 ก.ย. 2565
-
Be a Healthy Caregiver | World Alzheimer’s day 2022

 

     โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ที่เกิดกับความทรงจำและพฤติกรรม ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ จะมีอาการ สับสน ความทรงจำสูญหาย พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป บางรายมีปัญหาในการพูดและการกลืนอาหาร ทำให้ต้องพึ่งพาผู้ดูแล หรือญาติพี่น้องตลอดเวลา ด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบอันสำคัญมากมาย อาจทำให้ผู้ดูแลไม่มีเวลาและหลงลืมดูแลตัวเอง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณสามารถทำได้เพื่อคนที่คุณห่วงใย คือ รักษาร่างกายและจิตใจของตัวเองให้แข็งแรง

 

     เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก BDMS Wellness Clinic ขอส่งกำลังใจให้ผู้ดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ และผู้ดูแลผู้ป่วยทุกท่านได้มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ โดยการนำเคล็ดลับการดูแลสุขภาพง่าย ๆ มาเล่าสู่กันฟัง

 

  • ออกกำลังกายเป็นประจำ

     ไม่เพียงแต่ส่งเสริมให้ร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยบรรเทาความเครียดได้อีกด้วย การออกกำลังกาย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลดีต่อร่างกายอย่างมาก แต่หากผู้ดูแลท่านไหนไม่มีเวลา การแบ่งเวลาออกกำลังกายเพียงครั้งละ 10 นาที 3 ครั้งต่อวันก็เป็นผลดี 

     ลองจัดเวลาการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับตารางในชีวิตประจำวัน หรืออาจใช้เวลาช่วงที่ผู้ป่วยนอนหลับ เลือกการออกกำลังกายที่สะดวกและทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น โยคะ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกายโดยใช้น้ำหนักตัวเอง (Body weight) หรืออาจเลือกกิจกรรมที่ทำร่วมกับผู้ป่วยได้ เช่น เดินเล่นด้วยกัน เต้นด้วยกัน หรือทำสวนพร้อมกัน เป็นต้น

  • จัดการกับความเครียด

     อย่าละเลยอาการที่แสดงถึงความเครียดหรือความเหนื่อยล้า เพราะความเครียดอาจเป็นสาเหตุของปัญหาทางร่างกายอื่น ๆ เช่น ตามัว ระคายเคืองกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิ ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลง โดยสามารถจัดการความเครียดด้วยตนเองโดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจ ออกกำลังกาย ฝึกโยคะ รับฟังเสียงภายในใจและความรู้สึกของร่างกายตัวเองอยู่เสมอ อย่าลืมไปพบแพทย์หรือปรึกษาคนใกล้ตัว หากคุณรู้สึกว่าไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ด้วยตัวเอง

  • ขอความช่วยเหลือเมื่อต้องการ

     อย่าปล่อยให้ร่างกายและจิตใจของคุณเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะทนไหว อย่าคิดว่า ต้องรับมือกับปัญหาทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว มองหาความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อน หรือบุคลากรทางการแพทย์  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณมีอาการทางกายที่แสดงถึงความเครียด เช่น ความอยากอาหารหรือคุณภาพการนอนหลับที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นึกไว้เสมอว่า ทุกคนต้องการเวลาพักจากการทำหน้าที่ ไม่มีใครสามารถแบกรับงานทั้งหมดได้เพียงคนเดียว ลองมองหาสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสั้น หรือคนที่ไว้ใจได้ มาสลับทำหน้าที่เป็นครั้งคราว เพื่อให้ได้มีเวลาดูแลตัวเองและพักผ่อนจากความรับผิดชอบในทุกวัน

  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

     อาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและยังช่วยดูแลสมองของเราอีกด้วย โดยการเพิ่มการรับประทานธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น ปลา หรือ ไก่ อาหารเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อร่างกายของคุณ แต่ยังส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยให้ดีขึ้นด้วย หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาล จากอาหารประเภท ไส้กรอก กุนเชียง ขนมอบ ขนมหวาน ไอศครีม เป็นต้น

 

     ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด ทำได้เพียงแต่ชะลอการดำเนินของโรค ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงต้องยอมรับความจริงว่า เราไม่สามารถควบคุมปัจจัยบางอย่างได้ จำไว้เสมอว่าคุณทำดีที่สุด เท่าที่คุณสามารถทำได้แล้ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีและปลอดภัย ปล่อยวางสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อยู่กับปัจจุบันและมีความสุขกับความทรงจำที่ดี และอย่าลืมว่า การดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยกว่าการดูแลผู้ป่วย

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

ที่มา : Alzheimer's Association. Be a Healthy Caregiver [Internet]. Alzheimer's Disease and Dementia. 2022 [cited 16 August 2022]. Available from: https://www.alz.org/help-support/caregiving/caregiver-health/ be_a_healthy_caregiver

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved