ไขความลับอายุยืนยาวอย่างมีคุณภาพ แค่รู้จัก “อายุเซลล์”
Longevity หรือ หนทางสู่การมีอายุยืนยาว เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ใฝ่ฝัน ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ค่าเฉลี่ยอายุขัย (Lifespan) ของผู้คนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 73.4 ปี แต่อายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (Health Span) กลับอยู่ที่ 63.7 ปีเพียงเท่านั้น ซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแพทย์ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต มากกว่าการมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน แม้เราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความชราได้ แต่ก็สามารถปรับ Lifestyle เพื่อชะลอความเสื่อมของอายุเซลล์ได้
หนทางสู่การมีอายุยืนยาว (Longevity) เป็นความปรารถนาของมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย อายุขัยของมนุษย์เพิ่มมากขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี (Centenarian) มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า จาก 180,000 คน ในปีพ.ศ. 2544 เพิ่มเป็น 593,000 คน ในปีพ.ศ. 2564 อายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) ของมนุษย์ทั่วโลก เพิ่มขึ้น 6.6 ปีจาก 66.8 ปี เมื่อปีพ.ศ. 2543 อยู่ที่ 73.4 ปี ในปีพ.ศ. 2562 ซึ่งหากแบ่งตามเพศ ผู้หญิงจะมีอายุขัยเฉลี่ย 75.9 ปี ส่วนผู้ชายอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 70.8 ปี ส่วนคนไทย อายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 77.7 ปี โดยผู้หญิงอยู่ที่ 81.04 ปี และผู้ชายอยู่ที่ 74.36 ปี
ขณะเดียวกันอายุคาดเฉลี่ยที่มีสุขภาพสมบูรณ์ (Healthy Life Expectancy หรือ HALE) ก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จาก 58.3 ปี ในพ.ศ. 2543 มาอยู่ที่ 63.7 ปี ในพ.ศ. 2562 แต่การเพิ่มขึ้นของ HALE (5.4 ปี) ไม่ได้ทันกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น (6.6 ปี) กล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่เป็นเพราะอัตราการตายที่ลดลง มากกว่าการที่ผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างมีสุขภาพแข็งแรง
ความชรา เกิดจากความเสื่อมถอยของร่างกายและความสามารถในการฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเอง เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับความตาย ดังนั้นคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในช่วงท้ายของชีวิตจึงสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้คนต่างหันมาให้ความสำคัญกับคำว่า Health span เพิ่มขึ้น หรืออายุยืนยาวสุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
อายุขัย (Lifespan) หมายถึง ระยะเวลาที่คน สัตว์ หรือสิ่งต่าง ๆ ดำรงอยู่ หรือมีชีวิตอยู่ หรือพูดง่าย ๆ คือ อายุตามบัตรประชาชน และคำว่า Health span หมายถึง ช่วงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ โดยไม่พิการหรือป่วยเป็นโรค ซึ่งปัจจุบันมนุษย์มุ่งค้นหาวิธีเพิ่ม Health span เพื่อการมีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพมากขึ้น (Quality of Life)
แม้สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงความชราได้ แต่ร่างกายคนเราเกิดความเสื่อมช้าเร็วไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก 3 ประการคือ พันธุกรรม (Genetics) สิ่งแวดล้อม (Environment) และพฤติกรรมการใช้ชีวิต (Lifestyle) ซึ่งสำหรับตัวหมอเองที่มุ่งมั่นพยายามพัฒนา เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาวะสุขภาพของผู้คนให้แข็งแรงจนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต จึงได้นำเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกัน รักษา และลดความรุนแรงของโรคได้ มาช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้คนเริ่มต้นด้วยการแก้ไขต้นเหตุของปัญหา
การนับอายุของมนุษย์มี 2 แบบ แบบที่หนึ่งคือ อายุตามปฏิทิน (Chronological age) นับกันตามวันเดือนปีที่เกิด เพิ่มขึ้นตามวันเวลาที่ผ่านไป และอีกแบบหนึ่งคือ อายุของร่างกาย (Biological age) เป็นอายุของเซลล์ในร่างกาย เปลี่ยนแปลงขึ้นกับปัจจัยต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเราเป็นคนที่ดูแลสุขภาพร่างกายอยู่เสมอ อายุเซลล์ก็จะน้อย การจะทราบอายุตามปฏิทินคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่อายุร่างกายไม่เท่ากับอายุบนบัตรประชาชน จำเป็นจะต้องเจาะลึกลงไปถึงระดับโครโมโซม
ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Scientific Wellness หรือ Medical Wellness) ซึ่งให้ข้อมูลที่แม่นยำและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ช่วยให้ผู้คนสามารถทราบถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ล่วงหน้า มีประโยชน์ในเชิงป้องกัน และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษา วางแผนโภชนาการและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เฉพาะเจาะจงกับแต่ละบุคคล ซึ่งบทความนี้หมอขอยกตัวอย่างการตรวจสุขภาพเชิงลึก 2 วิธี หากใครสามารถตรวจได้จะช่วยให้เราเข้าใจร่างกายของตัวเองมากขึ้น หรือทราบถึงอายุจริง ๆ ของสุขภาพเรา (Biological Age)
- วิธีแรกคือ การตรวจความยาวของเทโลเมียร์ (Telomere) ส่วนที่อยู่บริเวณปลายสุดของโครโมโซม ทำหน้าที่คล้ายกับปลอกพลาสติกที่อยู่ปลายเชือกผูกรองเท้า ป้องกันไม่ให้เชือกรองเท้าหลุดรุ่ยหรือเสียหายก่อนเวลาอันควร เทโลเมียร์จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ ทุกปี แต่เร็วหรือช้านั้นขึ้นกับการใช้ชีวิต ถ้าเทโลเมียร์ยาว จะแสดงให้เห็นว่าอายุร่างกายยังไม่มาก แต่ถ้าเทโลเมียร์สั้น แสดงว่า อายุร่างกายมาก ก็อาจจะเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น
- วิธีที่สองคือ การตรวจเอพิเจเนติกส์ (Epigenetics) เพื่อตรวจสอบว่าปัจจัยและพฤติกรรมใดมีผลต่อการแสดงออกของยีน ทำให้ทราบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เพราะสิ่งแวดล้อม อาหาร การออกกำลังกาย ระดับความเครียด การนอนหลับ สามารถกระตุ้นหรือยับยั้งการแสดงออกของยีนได้ ตัวอย่างเช่น อาหารไขมันสูง สามารถลดการทำงานของยีน PPARγ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ ส่งผลให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายลดลง การเปลี่ยนแปลงเอพิเจเนติกส์สามารถย้อนกลับได้เพราะไม่ได้เปลี่ยนแปลงลำดับดีเอ็นเอ การตรวจดังกล่าวจึงช่วยให้เราสามารถเลือกวางแผนก ารดำเนินชีวิตให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นได้
ฉะนั้นบางคนอายุจริง 60 ปี แต่ตรวจแล้ว อายุของร่างกายเท่ากับคนอายุ 50 ปี แสดงว่า คนนี้ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจมาดีมาก ผลตรวจสุขภาพจึงหนุ่มกว่าอายุจริงถึง 10 ปี
สุขภาพดีมากกว่าความสุขกาย แต่รวมถึงสุขใจด้วย: องค์การอนามัยโลกได้นิยามความหมายของคำว่า สุขภาพ (Health) เอาไว้ว่า ภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม จึงต้องดูแลให้ครบถ้วน ทั้ง 3 ด้าน เพื่อสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม เมื่อเราทราบอายุของร่างกายที่เป็นความแข็งแรงทางกายแล้ว อย่าลืมดูแลความแข็งแรงด้านจิตใจกันด้วย จากรายงานความสุขโลกประจำปี 2024 (World Happiness Report 2024) พบว่า ประเทศฟินแลนด์ยังคงครองประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 58 ลดลงจากเมื่อประมาณ 10 ปีก่อนที่อันดับ 34 ซึ่งงานวิจัยอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) รายงานว่า ตัวเลขผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 6 ปี จาก 1.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2564
ความเครียดเป็นเหมือนเพชฌฆาตเงียบ ที่สังเกตด้วยตาเปล่าได้ยากแต่เริ่มแสดงอาการออกมาเมื่อคน ๆ นั้นมีความเครียดเรื้อรัง เช่น ป่วยบ่อย เป็นหวัดง่าย เสี่ยงโรคอ้วน แม้กระทั่งเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เป็นต้น โดยความเครียดสามารถตรวจได้จากฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนความเครียด และ ฮอร์โมนดีเอ็ชอีเอ (DHEA, Dehydroepiandrosterone) ที่เป็นฮอร์โมนต้านความเครียด หรือฮอร์โมนความสุข เพื่อดูความสมดุลระหว่างฮอร์โมนทั้งสองชนิด ทั้งนี้ความเครียดยังส่งผลถึงความยาวของเทโลเมียร์ได้เช่นกัน งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความยาวของเทโลเมียร์ในผู้หญิงที่มีความเครียดเป็นประจำ จะสั้นกว่ากลุ่มที่ไม่เครียดมากถึง 10 ปี
สุดท้ายนี้หมอขอนำ 5 เคล็ดลับการมีสุขภาพที่ดีมาแนะนำ เพื่อการมีอายุร่างกายอ่อนเยาว์กว่าอายุจริงของเรา
- การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 8-9 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงสารอันตราย
- ดูแลสุขภาพจิตตัวเองให้ดีอยู่เสมอ
References
- Kaeberlein M. How healthy is the healthspan concept?. Geroscience. 2018 Aug;40(4):361-4.
- Gravina S, Vijg J. Epigenetic factors in aging and longevity. Pflügers Archiv-European Journal of Physiology. 2010 Jan;459:247-58.
- Shadyab AH, LaCroix AZ. Genetic factors associated with longevity: a review of recent findings. Ageing research reviews. 2015 Jan 1;19:1-7.
- Passarino G, De Rango F, Montesanto A. Human longevity: Genetics or Lifestyle? It takes two to tango. Immunity & Ageing. 2016 Dec;13:1-6.
- Levine ME, Lu AT, Quach A, Chen BH, Assimes TL, Bandinelli S, Hou L, Baccarelli AA, Stewart JD, Li Y, Whitsel EA. An epigenetic biomarker of aging for lifespan and healthspan. Aging (albany NY). 2018 Apr;10(4):573.
- Kühn S, Rieger UM. Health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely absence of disease or infirmity. Surgery for Obesity and Related Diseases. 2017 May 1;13(5):887
- สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2564). สรุปผลที่สำคัญการสำรวจสุขภาพจิต (ความสุข) ของคนในประเทศไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพฯ : กองสถิติพยากรณ์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ.