แค่ขยับก็ลดเสี่ยง เลี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ-แตก-ตัน!
ก้าวเล็ก ๆ สู่ความสำเร็จในการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของคนไทย ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้เสียชีวิต 61,473 คน และเป็นความเจ็บป่วยที่นำไปสู่ความพิการรวมถึงคุณภาพชีวิตที่ลดลง World Stroke Organization ได้รายงานว่า การขาดกิจกรรมทางกายเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง และ 1 ใน 4 คนมีความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองสักครั้งในชีวิต
การเริ่มดูแลตัวเองเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถป้องกันความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดสมองได้ การออกกำลังกายความหนักระดับปานกลาง วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองได้ 25% จากการลดความเสี่ยงภาวะต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะซึมเศร้าและความเครียด ฯลฯ
สำหรับผู้ที่เคยเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง การออกกำลังกายนั้นมีความสำคัญมาก เพราะช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ และลดความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ทั้งยังช่วยให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ดีขึ้น ช่วยเรื่องภาวะอ่อนแรงและช่วยเพิ่มสุขภาวะโดยรวมได้ แม้ว่าสภาพร่างกายอาจมีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว จากภาวะหลอดเลือดสมอง แต่การออกกำลังกายบางรูปแบบก็ยังสามารถทำได้ โดยควรปรึกษาแพทย์ นักกายภาพบำบัด หรือนักกิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยหาวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสม
การเริ่มต้นออกกำลังกายสำคัญมาก หากไม่สามารถออกกำลังกายติดต่อกันได้ 30 นาที อาจเริ่มจากการออกกำลังกายสั้น ๆ เพียง 10 นาที หรือการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเพื่อเพิ่มกิจกรรมทางกาย เช่น การเดินขึ้นบันได หรือการจอดรถไกลขึ้น เพื่อเพิ่มระยะทาง การลงมือทำสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า ‘เทคนิค Small Win’ เป็นการตั้งเป้าหมายเล็ก ๆ ที่รู้สึกไม่ยาก สามารถลงมือทำได้ทันที ทำให้มีกำลังใจ และมีความมั่นใจที่จะทำต่อ เมื่อเห็นความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จะเกิดความรู้สึกประสบความสำเร็จ และมีแรงจูงใจที่จะทำต่อ
เนื่องในวันหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Day) ในปีนี้ พวกเราอยากเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Challenge ในการเพิ่มกิจกรรมทางกาย เคลื่อนไหวร่างกายเพิ่มขึ้น เริ่มต้นจากเป้าหมายเล็ก ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองในทุกวัน แล้วเราจะเห็นว่า ก้าวเล็ก ๆ เหล่านี้ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของเรา และป้องกันโรคนี้ได้ สมกับประโยคที่ว่า TOGETHER WE CAN BE #GreaterThan STROKE!
รายการอ้างอิง
- Global Health Estimates 2021: Deaths by Cause, Age, Sex, by Country and by Region, 2000-2021. Geneva, World Health Organization; 2024.
- World Stroke Organization. Stroke and exercise [Internet]. 2024 [cited 2024 Sep 30]. Available from: https://www.world-stroke.org/world-stroke-day-campaign/prevent-stroke/stroke-and-exercise