ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

5 เรื่องควรรู้ เกี่ยวกับ STROKE

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
29 ต.ค. 2566
-

 

เนื่องในวันที่ 18 ตุลาคม วันโรคหลอดเลือดสมอง World Stroke Day 2023

โรคหลอดเลือดสมอง Stroke เป็นการเจ็บป่วยที่นำมาซึ่งความพิการมากถึง 12 ล้านคนต่อปี ข้อมูลจากสมาคมโรคอัมพาตแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Stroke Association, ASA) เปิดเผยว่า ทุก ๆ 40 วินาที จะมีคนในอเมริกาเป็นโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลรายงานประจำปี 2565 ของกองโรคไม่ติดต่อ เปิดเผยว่า ในปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 36,214 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 1,669 คน ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2560 

เพื่อให้ทุกคนได้รู้เท่าทันและป้องกันภาวะนี้ เราจึงขอนำ 5 ข้อควรรู้เกี่ยวกับ Stroke มาฝากกันครับ

STROKE ทำลายเซลล์สมอง

โรคหลอดเลือดสมองเกิดขึ้นเมื่อมีการอุดตัน ตีบ หรือแตก ของหลอดเลือดภายในสมอง ทำให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงที่สมองไม่ได้ จนเซลล์สมองตาย

STROKE มีหลายประเภท
  • โรคหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke)

ภาวะที่มีตีบหรืออุดตันของหลอดเลือด จากก้อนไขมัน หรือลิ่มเลือดอุดตัน

  • โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke)

ภาวะที่มีเลือดออกในเนื้อสมองและใต้เยื่อหุ้มสมอง เกิดการสะสมและบีบอัดของเนื้อเยื่อสมองโดยรอบ

  • สมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack, TIA)

ภาวะที่มีการอุดตันของหลอดเลือดชั่วคราว ลิ่มเลือดมักหลุดได้เอง อาการอาจอยู่เพียงไม่กี่นาที ถึง 24 ชั่วโมง ผู้ที่มีภาวะนี้ควรรีบไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการเกิด stroke รุนแรงได้

STROKE กลับมาเป็นซ้ำได้ 

ราว 1 ใน 4 คนที่เคยเกิด Stroke ประเภทใดประเภทหนึ่ง มีความเสี่ยงที่จะเกิดประเภทอื่นๆ ซ้ำได้แต่ที่โชคดี คือ 80% ของโรคหลอดเลือดสมองตีบ สามารถป้องกันได้

STROKE ป้องกันได้

การป้องกัน คือกุญแจที่สำคัญที่สุด ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อคัดกรองและหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น รวมไปถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างมีคุณภาพ รับประทานที่ดีต่อสุขภาพ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ฯลฯ

STROKE สูญเสียมากตามเวลา

หากปล่อยไว้นานเท่าไหร่ เท่ากับ สูญเสียเซลล์สมองมากขึ้นเท่านั้น โดยสังเกตสัญญาณเตือนสำคัญ ตามสัญญาณ F.A.S.T.

  • Face ใบหน้าอ่อนแรง หน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว
  • Arm แขน ขา อ่อนแรง
  • Speech พูดลำบาก พูดไม่ชัด คิดคำพูดไม่ออก
  • Time รีบไปโรงพยาบาลให้ทันใน 4 ชั่วโมงครึ่ง เพิ่มโอกาสฟื้นตัวจากความพิการ

โรคหลอดเลือดสมองสามารถเกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา เนื่องในวันหลอดเลือดสมองโลก #WorldStrokeDay พวกเราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างสังคมยุคใหม่ สังคมแห่งการมีสุขภาพที่ดีและยั่งยืน

 

ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic

LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

รายการอ้างอิง
  • Gerstl JVE, Blitz SE, Qu QR, Yearley AG, Lassarén P, Lindberg R, et al. Global, Regional, and National Economic Consequences of Stroke. Stroke. 2023 Sep 1;54(9):2380–9.
  • กุลพิมน เจริญดี, ณัฐกฤตา บริบูรณ์, อรรถกร บุตรชุมแสง, สุพิน รุ่งเรือง, บรรณาธิการ. รายงานประจำปี 2565 🔹 กองโรคไม่ติดต่อ. [อินเทอร์เน็ต] นนทบุรี: กองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข; 28 กุมภาพันธ์ 2566 [เข้าถึงเมื่อ 21 กันยายน 2566]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaincd.com/document/file/download/paper-manual/Report2565NCDs.pdf
  • American Stroke Association. 5 Key Facts About Stroke [Infographic]. 2022 [cited 2023 Sep 4]. Available from: https://www.stroke.org/en/professionals/stroke-resource-library/prevention/five-key-facts-about-stroke
  • American Stroke Association. I AM Determined to Prevent Another Stroke [Infographic]. 2022 [cited 2023 Sep 4]. Available from: https://www.stroke.org/-/media/Stroke-Files/All-Infographics/I-AM-Determined-to-Prevent-Another-Stroke.pdf
  • Centers for Disease Control and Prevention. About Stroke [Internet]. 2023 May 4 [cited 2023 Sep 4]. Available from: https://www.cdc.gov/stroke/about.htm

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved