ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

โรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงที่เลี่ยงได้

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
17 พ.ค. 2566
-

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases หรือ NCDs) ที่นับว่าเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ทั่วโลกยังคงเผชิญอยู่โดยไม่มีท่าทีลดลงแต่อย่างใด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า มีผู้ที่ประสบกับปัญหานี้มากขึ้นจากเดิม 594 ล้านคน ในปี ค.ศ.1975 เป็น 1.13 ล้านล้านคนในปี ค.ศ.2015 โดยจำนวนเกือบครึ่งนึงไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากในระยะแรกของโรคนี้จะไม่แสดงอาการใด ๆ จนถูกนิยามว่าเป็น “ฆาตกรเงียบ (The Silent Killer)”

วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี จัดให้เป็น วันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โดยสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) และสมาคมโรคความดันโลหิตสูงนานาชาติ (International Society of Hypertension) ทาง BDMS Wellness Clinic ได้ตระหนักถึงความสำคัญของวันดังกล่าว จึงอยากชี้ให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลโรคความดันโลหิตสูง รวมไปถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในอนาคต

 

 

ความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ปัจจัยภายในหรือปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด ได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ การมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และพันธุกรรม เป็นต้น 
  2. ปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยเสี่ยงที่แก้ไขได้ เกิดจากพฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลเอง ซึ่งมีดังนี้
มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักตัวเกิน

มีค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI มากกว่า 24.9 kg/m2 และเส้นรอบเอวมากกว่า 80 ซม. ในเพศหญิง และ 90 ซม. ในเพศชาย หรือมีมวลไขมัน มากกว่า 30 - 35% ในผู้หญิง และมากกว่า 20 - 25% ในผู้ชาย เพราะน้ำหนักตัวที่มากขึ้นทำให้หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดต้องทำงานหนักขึ้น

มีรูปแบบการรับประทานที่ไม่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง ไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และน้ำตาลบ่อยครั้ง รวมถึงขาดการรับประทานผักและผลไม้

มีกิจกรรมทางกายน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย

มีกิจกรรมนั่ง-นอนเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่เคลื่อนไหว หรือไม่ออกกำลังกายเลย เพราะการมีกิจกรรมทางกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเครียด และลดระดับความดันโลหิตได้

ชอบสูบบุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น (Secondhand smoker)

สารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก มีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นแบบฉับพลับในชั่วขณะ และสร้างความเสียหายแก่หลอดเลือดแดง

ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักเป็นประจำ เพิ่มความเสี่ยงสุขภาพมากมาย ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และเส้นเลือดในสมองตีบแตกหรืออุดตัน (Stroke)

มีความเครียดเรื้อรัง

ความเครียดที่มากเกินไปไม่เพียงแต่เพิ่มระดับความดันโลหิต แต่ยังก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีอื่น ๆ ตามมา เช่น กินอาหารที่ไม่ดี การไม่ออกกำลังกาย และดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่เพิ่มมากขึ้น

นอนหลับไม่ดี

การนอนไม่เพียงพอ รวมถึงผู้มีปัญหาการนอนหลับ (เช่น โรคนอนไม่หลับ การหยุดหายใจขณะนอนหลับ) มีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูงชนิดดื้อต่อการรักษา (Resistant Hypertension)

 

เมื่อทราบเบื้องต้นถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง จะทำให้เราพอรู้แนวทางการป้องกันโรคนี้ได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

แนวทางป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูง
  • หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม โดยลดการใช้เครื่องปรุง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและเนื้อสัตว์แปรรูป
  • เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ในทุกมื้ออาหาร
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือสูดดมควันบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนัก และเส้นรอบเอวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • มีกิจกรรมทางกายหรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • จัดการความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส ผ่อนคลาย
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7 - 9 ชั่วโมงต่อวัน
  • หมั่นตรวจเช็กความดันโลหิต และตรวจสุขภาพประจำปี

 

แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูงบางอย่างจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ทั้งนี้เราสามารถปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันไม่ให้พัฒนาเป็นโรคนี้ได้ ดังนั้นในวันความดันโลหิตสูงโลก พวกเราจึงขอใช้โอกาสนี้ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพราะนี่คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

รายการอ้างอิง
  • WHO. Hypertension [Internet]. Geneva: World Health Organisation; 2021 [cited 2022 Jan 23]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/hypertension
  • วิชัย เอกพลากรม ทหัยชนก พรรคเจริญ, วราภรณ์ เสถียรนพเก้า, บรรณาธิการ. การสำรวจสุขภาพของประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายครั้งที่ 6 พ.ศ.2562 – 2563.
  • American Heart Association. Know Your Risk Factors for High Blood Pressure [Internet]. Dallas, TX: American Heart Association; 2017 [updated 2017 Dec 31 cited 2023 Jan 27]. Available from: https://www.heart.org/en/health-topics/high-blood-pressure/why-high-blood-pressure-is-a-silent-killer/know-your-risk-factors-for-high-blood-pressure 
  • Unger T, Borghi C, Charchar F, Khan NA, Poulter NR, Prabhakaran D, et al. 2020 International Society of Hypertension Global Hypertension Practice Guidelines. Hypertension. 2020;75(6):1334-57.
  • Lan R, Bulsara MK, Pant PD, Wallace HJ. Relationship between cigarette smoking and blood pressure in adults in Nepal: A population-based cross-sectional study. PLOS Global Public Health. 2021 Nov 9;1(11):e0000045.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved