โรคอ้วน ทำให้เสี่ยงต่อ COVID-19 มากยิ่งขึ้น
ผู้ป่วยโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มีโอกาสจะเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 การศึกษาในอเมริกาพบว่าคนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index; BMI) มากกว่า 30 กก./เมตร2 มีโอกาสเจ็บป่วยรุนแรงและเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤติสูงถึง 74% เมื่อเทียบกับคนที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่เพียงแต่ผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยง คนอายุน้อยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ก็มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงเช่นกัน
โรคอ้วนกับไวรัสโควิด 19
คนที่มีภาวะอ้วน คือ คนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) มากกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 หรือมีปริมาณไขมันสะสมอยู่ในร่างกายมากเกินไป โดยผู้หญิงมีไขมันมากกว่า 32% และผู้ชายมากกว่า 28%
เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส ปริมาณไขมันในร่างกายที่มากเกินไปทำให้การอักเสบเพิ่มสูงขึ้น ร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง ประสิทธิภาพการทำงานรวมถึงปริมาณของภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง ความรุนแรงของโรคจึงมากขึ้น
ไขมันในช่องท้องของคนอ้วนที่มากเกินไป ทำให้การขยายตัวของปอดทำได้อย่างจำกัด ส่งผลให้อากาศไหลเวียนได้น้อยลง ความเสี่ยงจึงสูงขึ้นเมื่อเกิดการติดเชื้อที่ปอด
ปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วน อาจทำให้ยากต่อการใส่ท่อช่วยหายใจรวมถึงการเคลื่อนย้ายต่าง ๆ
เมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ร่างกายจะตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่าคนน้ำหนักปกติ เนื่องจากระดับภูมิคุ้นกันที่น้อยลงจากการมีปริมาณไขมันในร่างกายมาก
วิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคอ้วนหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว
คนที่มีภาวะอ้วนควรลดน้ำหนักตัวลงอย่างน้อย 10% ของน้ำหนักตัวปัจจุบัน ส่งผลให้สุขภาพดีขึ้นและช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วยได้
ตัวอย่างผู้ที่มีน้ำหนัก 90-100 กิโลกรัม ควรลดน้ำหนัก 9-10 กิโลกรัม
- ออกกำลังกายและหมั่นเคลื่อนไหวร่างกายอยู่เสมอ วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้การทำงานของปอดและหัวใจดีขึ้น ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) ด้วยการยกน้ำหนัก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยอาศัยอุปกรณ์ง่าย ๆ ภายในบ้าน ให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
- รับประทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการ เช่น คาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ เลือกแหล่งโปรตีนจากเนื้อปลา เต้าหู้ ถั่วหลากชนิด เพื่อให้ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารพฤกษเคมีที่สำคัญ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง
หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และปฏิบัติตามกฏการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) อย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการผิดปกติมีอาการควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
แหล่งที่มา:
1. Huang Y, Yao L, Huang Y-M, Min W, Wei L, Yi S, et al. Obesity in patients with COVID-19: a systematic review and meta-analysis. Metabolism. 2020:154378.
2. Popkin BM, Du S, Green WD, Beck MA, Algaith T, Herbst CH, et al. Individuals with obesity and COVID‐19: A global perspective on the epidemiology and biological relationships. Obesity Reviews. 2020;21(11):e13128.
Recommended Packages & Promotions
เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ