โรคไวรัสตับอักเสบ ซี: รู้ให้ทัน ป้องกันมะเร็งตับ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
28 ก.ค. 2566
-
 
World Hepatitis Day 2023

 

ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus, HCV) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการตับอักเสบ (Hepatitis) หากผู้ป่วยได้รับเชื้ออาจไม่แสดงอาการใด ๆ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย จนถึงเกิดความเสียหายเรื้อรังที่นำไปสู่ภาวะตับแข็ง (Cirrhosis) และโรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma, HCC) สามารถทำให้เกิดภาวะตับวาย (Liver failure) ได้

ในปี 2019 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organisation, WHO) ประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มากถึง 58 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา สำหรับการสำรวจในประเทศไทย พ.ศ.2557 และ พ.ศ.2558 พบจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ร้อยละ 0.39 และ 0.7 ของประชากรตามลำดับ

ใครเสี่ยงสัมผัส โรคไวรัสตับอักเสบ ซี ?
  • ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีการฉีด
  • ผู้ที่เข้ารับเลือด หรือปลูกถ่ายอวัยวะก่อน พ.ศ.2535
  • บุตรที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
  • ผู้เคยใช้อุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับเลือดและหรือสารคัดหลั่งร่วมกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี
  • ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี
  • ผู้ป่วยที่มีโรคตับแข็งหรือตับอักเสบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ

รู้เท่าทัน ป้องกันได้
  • ตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ ซี หากเป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง
  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ห้ามใช้เข็มฉีดยา เข็มสัก หรือเจาะร่างกายด้วยเข็มที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ส่วนตัวร่วมกัน เช่น มีดโกนหนวด กรรไกรตัดเล็บ
  • ในผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 

แม้ว่าโรคไวรัสตับอักเสบ ซี จะมีการพัฒนาแนวทางการรักษาจนหายขาดได้ ทั้งการพัฒนายาต้านไวรัสชนิดใหม่ ๆ หรือยาในกลุ่มอินเตอร์เฟอรอน แต่การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้นดีที่สุด

เนื่องในวันตับอักเสบโลก หรือ 28 กรกฎาคมนี้ เราจึงอยากเชิญชวนทุกคนร่วมตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบเบื้องต้น เพราะกว่าจะพบความผิดปกตินั้น ตับของเราอาจะเกิดความเสียหายไปมากแล้วก็ได้

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

โทร: 028269999

LINE: @bdmswellnessclinic

 

รายการอ้างอิง

  • World Health Organisation. Updated recommendations on treatment of adolescents and children with chronic HCV infection, and HCV simplified service delivery and diagnostics [Internet]. 2022 Oct 17 [2023 May 22]. Available from: https://www.who.int/publications/i/item/9789240052734
  • ทรงยศ พิลาสันต์, พัทธรา ลีฬหวรงค์, ดิศรณ์ กุลโภคิน. โครงการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านงบประมาณของการใช้ยาสูตร sofosbuvir/velpatasvir ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังทุกสายพันธุ์ในประเทศไทย. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.); 2563.
  • สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย. แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ ซี เรื้อรัง ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2561. พิมพ์ครั้งที่ 1. นนทบุรี: บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด; 2561.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved