3 กิจกรรมยามว่าง ที่เป็นเหมือนยาป้องกันโรคอัลไซเมอร์
เคล็ดลับการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสมองเสื่อม
เนื่องในวันที่ 21 กันยายน วันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer's Day)
โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมประเภทหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากการสะสมของโปรตีน ชื่อว่าเบต้า-อะไมลอยด์ (Beta-Amyloid) และเทาว์ (Tau) รวมถึงการเสื่อมของเซลล์ประสาท
หลายคนเข้าใจว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้เมื่ออายุมากขึ้น แม้อายุจะเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เรายังสามารถลดปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เพื่อช่วยป้องกันและชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ได้
มีการศึกษาที่รวบรวมเอา 38 การศึกษาแบบระยะยาว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมวิจัยสูงถึง 2.1 ล้านคน ให้ข้อสรุปว่า การทำกิจกรรมยามว่าง ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคสมองเสื่อมได้สูงถึง 20% เพราะวิธีป้องกันตัวเองจากภาวะสมองเสื่อม คือการทำให้สมองของเราได้รับการกระตุ้นอยู่เสมอ
กิจกรรมยามว่าง 3 ประเภท ที่ส่งผลดีต่อสมอง ได้แก่
กิจกรรมฝึกสมอง (Cognitive Activities)
เช่น อ่านหนังสือ ฝึกเขียนตัวอักษรหรือเขียนหนังสือ เล่นเกมปริศนา ฝึกดนตรี วาดรูป หรือทำงานฝีมือ ช่วยลดความเสี่ยงได้ 23%
→ การฝึกสมองช่วยรักษาทักษะต่าง ๆ เช่น ความจำ ความคิด และการใช้เหตุผล กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยรักษาสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) และฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งเป็นสองส่วนแรก ที่เกิดผลกระทบในระยะเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม
กิจกรรมทางกาย (Physical Activity)
ตัวอย่างเช่น การเดินออกกำลังกาย วิ่ง ว่ายน้ำ โยคะ หรือเต้น ช่วยลดความเสี่ยงได้ 17%
→ การออกกำลังกายช่วยเรื่องการเชื่อมต่อของเซลล์สมองและชะลอการลดลงของความจำ กิจกรรมทางกายยังสัมพันธ์กับระดับเบต้า-อะไมลอยด์ และ โปรตีนเทาว์ที่ลดลง
กิจกรรมทางสังคม (Social Activity) ที่ได้ติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นการ เข้าร่วมคลาสเรียน งานอาสาสมัคร ทำกิจกรรมทางศาสนา การได้เจอเพื่อนฝูงหรือญาติมิตร ช่วยลดความเสี่ยง 7%
→ การเข้าสังคมหรือติดต่อกับผู้อื่น รวมถึงรู้สึกถึงความรักและห่วงใยจากผู้อื่น ลดการเกิดโรคซึมเศร้าและความเครียด ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของสมอง
การทำกิจกรรมเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ช่วยชะลอและป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ เช่น ลดความเสี่ยงมะเร็ง การเต้นของหัวใจผิดปกติลดลง และเพิ่มการรับรู้ความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเราเอง
เพราะฉะนั้นพยายามขยับร่างกายอยู่เสมอ ลองหากิจกรรมที่ชื่นชอบและทำได้เป็นประจำ ความเพลิดเพลินที่เกิดขึ้น จะช่วยให้คุณยังทำมันได้อยู่เรื่อย ๆ และในอนาคตสมองจะรู้สึกขอบคุณคุณ
เนื่องในวันที่ 21 กันยายน วันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer's Day) BDMS Wellness Clinic ขอร่วมสร้างการตระหนักรู้ เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่วันนี้ (Never too early, never too late)
ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic
โทร: 028269999
LINE: @bdmswellnessclinic
แหล่งที่มา
- Su S, Shi L, Zheng Y, Sun Y, Huang X, Zhang A, et al. Leisure activities and the risk of dementia. Neurology. 2022;99(15). doi:10.1212/wnl.0000000000200929
- Livingston G, Huntley J, Sommerlad A, Ames D, Ballard C, Banerjee S, et al. Dementia prevention, intervention, and care: 2020 report of The Lancet Commission. The Lancet. 2020;396(10248):413–46. doi:10.1016/s0140-6736(20)30367-6
- Alzheimer’s Disease International (ADI) . Adi - World Alzheimer’s Month [Internet]. [cited 2023 Jul 3]. Available from: https://www.alzint.org/get-involved/world-alzheimers-month/
Recommended Packages & Promotions
ขี้ลืม สมาธิสั้น จุดเริ่มต้น…ความเสื่อมของสมอง ตรวจเช็กสุขภาพสมองก่อนสาย