ไขข้อสงสัย การตรวจสุขภาพประจำปี จำเป็นไหม มีอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพประจำปี ค้นหาโรคก่อนป่วย เพิ่มโอกาสรักษาหาย
การตรวจสุขภาพประจำปี เป็นการประเมินสภาพร่างกายโดยรวมของเราในทุก ๆ ปี เพื่อให้ทราบถึงภาวะความเสี่ยงของระบบส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายให้มากขึ้น แต่บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า หากไม่เคยเจ็บป่วย ตอนนี้ยังแข็งแรงอยู่ การตรวจสุขภาพประจำปียังจำเป็นอยู่ไหม ในบทความนี้จะมาไขทุกข้อสงสัยสำคัญเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพขั้นพื้นฐานว่ามีอะไรบ้าง ทำไมควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
การตรวจสุขภาพประจำปี ค้นหาโรคก่อนป่วย เพิ่มโอกาสรักษาหาย
การตรวจสุขภาพ คือ การตรวจร่างกายและตรวจหาโรคต่าง ๆ เพื่อประเมินสุขภาพโดยรวมของบุคคล โดยไม่ต้องรอให้มีอาการป่วย ซึ่งช่วยให้เราค้นพบโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา พร้อมวางแผนดูแลสุขภาพชีวิตที่ดีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทำไมควรตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปี เปรียบเสมือนการลงทุนในสุขภาพ ช่วยให้เราเข้าใจสภาพร่างกาย ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มต้น ป้องกันโรคร้ายแรง และส่งเสริมให้มีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
- ค้นหาโรคในระยะเริ่มต้น: การตรวจสุขภาพ ช่วยให้เราทราบถึงสถานะสุขภาพของตนเอง และอาจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ก่อนที่จะมีอาการแสดง ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ประเมินความเสี่ยง: แพทย์จะวิเคราะห์สุขภาพจากข้อมูลส่วนตัว ประวัติครอบครัว พฤติกรรมการใช้ชีวิต ผลตรวจร่างกาย และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยให้รู้ถึงความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวานได้
- ติดตามสุขภาพ : เพื่อให้เข้าใจภาพรวมของสุขภาพตนเอง รวมถึงแพทย์สามารถปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม และเลือกยาได้ตรงจุดมากขึ้น
- ส่งเสริมสุขภาพ: แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การกินอาหาร สำหรับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดีได้
- เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น: การตรวจสุขภาพประจำปี และมีการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม จะช่วยยืดอายุขัยและทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การตรวจสุขภาพ มีอะไรบ้าง
การตรวจสุขภาพมีหลายประเภท และแต่ละคนอาจได้รับการตรวจที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุ เพศ และประวัติสุขภาพของคุณ โดยแต่ประเภทการตรวจมีรายละเอียดดังนี้
- ซักประวัติและตรวจสุขภาพทั่วไป (Physical Exams) แพทย์จะซักถามประวัติสุขภาพ พฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
- การตรวจวัดทางสายตา (Auto-refraction) ตรวจสุขภาพดวงตาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อดูความสามารถในการมองเห็น เพื่อวิเคราะห์วินิจฉัยภาวะหรือโรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตา เช่น ต้อกระจก ต้อเนื้อ ต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) บริการตรวจวัดจำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด เพื่อบ่งชี้ภาวะโลหิตจาง ภาวะติดเชื้อ และความผิดปกติอื่น ๆ ของเม็ดเลือด
- ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis: UA) บริการตรวจสอบส่วนประกอบของน้ำปัสสาวะ โดยวิเคราะห์สี กลิ่น และความใสของน้ำปัสสาวะ เพื่อวินิจฉัยสารของเสียที่ถูกขับออกมาทางระบบอวัยวะภายในร่างกายต่าง ๆ
- ตรวจระดับไขมันในเลือด (Cholesterol, Triglyceride, HDL, LDL) บริการตรวจองค์ประกอบของไขมันทุกตัวในเลือด เพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (Fasting Blood Sugar) บริการตรวจวัดระดับความเข้มข้นของน้ำตาลในเลือด เพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการควบคุมน้ำตาล และประเมินผลความเสี่ยงโรคเบาหวาน
- ตรวจการทำงานของไต (Creatinine, Bun) บริการตรวจวัดระดับครีเอตินิน (Creatinine) และบุน (Bun) เพื่อประเมินการทำงานของไต สำหรับการกรองของเสียออกจากร่างกาย
- ตรวจการทำงานของตับ AST (SGOT) บริการตรวจการทำงานของตับ ตรวจเอนไซม์ AST หรือ SGOT ที่สร้างขึ้นเมื่ออวัยวะในร่างกายเกิดความเสียหาย หากพบในปริมาณมากจะเป็นสัญญาณว่าอวัยวะภายในมีปัญหา
- ตรวจเอกซเรย์ปอดหัวใจ (Chest X-ray) บริการตรวจบริเวณทรวงอกด้วยการฉายรังสีเอกซ์ เพื่อคัดกรองและหารอยโรคของอวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับปอด เช่น น้ำท่วมปอด ปอดแฟบ หัวใจผิดรูป
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG) บริการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจที่ปล่อยออกมาในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจหาความเสี่ยงต่อโรคที่มีผลกับการทำงานของหัวใจ
เคล็ดลับการตรวจสุขภาพประจำปีให้คุ้มค่า
- เลือกโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสม: โปรแกรมตรวจสุขภาพมีหลากหลาย ขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ประวัติสุขภาพ พฤติกรรม และความเสี่ยง ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมทุกโรค ควรศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบ เลือกโปรแกรมที่ตรงกับความต้องการของเรา
- เตรียมตัวก่อนการตรวจสุขภาพให้พร้อม: นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ชา กาแฟ อาหารมื้อหนัก ยาบางชนิด และควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยา อาหารเสริม สมุนไพร ที่รับประทานอยู่
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต: เช่น การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- บันทึกผลการตรวจสุขภาพ: เพื่อช่วยให้คุณติดตามสุขภาพและค้นพบปัญหาใด ๆ ในระยะเริ่มต้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการบันทึกไม่ว่าจะจดลงในสมุด บนแอปพลิเคชัน บนสมาร์ตโฟน หรือเก็บผลการตรวจสุขภาพไว้ในระบบคลาวด์ เป็นต้น
มารู้ทันปัญหาสุขภาพแต่เนิ่น ๆ ด้วยการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี แต่อย่างไรก็ตามการตรวจแบบทั่วไปอาจไม่เพียงพอ หากใครต้องการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดมากขึ้น ที่ BDMS Wellness Clinic มีศูนย์สุขภาพเชิงป้องกัน Preventive Check Up กับการตรวจสุขภาพแบบองค์รวม ที่ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่รักสุขภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพเชิงป้องกันได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic