6 Healthy Lifestyles แค่เริ่มปรับ สุขภาพก็เปลี่ยน
Lifestyle Medicine Week จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพลังของการมีพฤติกรรมสุขภาพดี เป็นการสร้างความตระหนัก ว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างสม่ำเสมอในแต่ละวันของเราสามารถนำไปสู่การมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่รับประทาน การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ การรับมือกับความเครียด การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ หลีกเลี่ยงสารอันตรายและฝุ่น PM2.5 และการเชื่อมโยงกับสังคม ซึ่งแต่ละด้านล้วนมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable Diseases)
กินให้ดี
เลือกรับประทานอาหารจากพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Whole food, plant-based diet) เช่น ผลไม้ ผัก ธัญพืชไม่ขัดสี เต้าหู้ สลับกับโปรตีนไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว หรือเนื้อไก่ไร้หนัง อาหารเหล่านี้ให้สารอาหารที่เหมาะสมตามความต้องการของร่างกาย ป้องกันโรคอ้วน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของเรา และลดความเสี่ยงโรคหัวใจ เบาหวาน และมะเร็ง ลองค้นหาสูตรอาหารใหม่ ๆ ที่ช่วยสร้างความสุขในการทำอาหารด้วยวัตถุดิบสดใหม่และมีคุณค่าทางโภชนาการ
เคลื่อนไหวมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นในสวนสาธารณะ การเล่นโยคะ หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้กำลังมากขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยรักษาน้ำหนักให้คงที่ ส่งเสริมสุขภาพจิต และเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม ในสัปดาห์นี้ ลองท้าทายตัวเองด้วยการค้นหากิจกรรมที่ชอบและทำให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน
จัดการความเครียด
ทุกคนล้วนต้องพบเจอกับความเครียด แต่ความเครียดเรื้อรังอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง ป่วยง่าย อาการซึมเศร้าและวิตกกังวล ลองใช้เทคนิคต่างๆ เช่น การเจริญสติ การทำสมาธิ และการฝึกลมหายใจเข้าออก สามารถช่วยจัดการกับความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองค้นหากิจกรรมหรือการพักผ่อนที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ในรูปแบบที่ดีที่สุดสำหรับเรา
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับเป็นรากฐานที่สำคัญของการมีสุขภาพดี เป็นวิธีดูแลสุขภาพที่ธรรมชาติมอบให้เราทุกคน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หลายคนประสบปัญหานอนไม่หลับ หลับไม่ลึก หรือนอนหลับไม่เพียงพอ วัยผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงต่อคืน และควรมีช่วงหลับลึกประมาณ 25% ของการนอนหลับทั้งหมด เพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูตัวเองอย่างเต็มที่จากการหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมนชะลอความแก่ หรือ โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ลองใช้สัปดาห์นี้สำรวจพฤติกรรมการนอนของตัวเองเพื่อปรับปรุงให้การนอนมีคุณภาพที่ดี และปริมาณชั่วโมงที่เพียงพอ (Quality and Quantity of Sleep)
หลีกเลี่ยงสารอันตรายฝุ่นมลภาวะ
บุหรี่ แอลกอฮอล์ และมลภาวะทางอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ล้วนส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรา และถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1 โดยองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ หรือ International Agency for Research on Cancer (IARC) ใช้ช่วงเวลานี้เพื่อสำรวจพฤติกรรมของเรา ว่ายังมีสิ่งไหนที่สามารถปรับปรุงเพื่อลดหรือกำจัดพฤติกรรมเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น เลิกสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง เป็นต้น
เชื่อมต่อกับคนรอบข้าง
ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและการได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต และการมีอายุยืนยาวได้ จากการตอบสนองต่อรางวัลตามธรรมชาติ (Reward pathway) โดยการปล่อยสารสื่อประสาทที่ให้ความรู้สึกดี ได้แก่ Dopamine, Oxytocin, Serotonin, และ Endorphins (DOSE) ในช่วงสัปดาห์นี้ ลองติดต่อกับเพื่อน ครอบครัว หรือทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน เพื่อสานสัมพันธ์และส่งเสริมสุขภาพกายใจที่แข็งแรง
เนื่องใน Lifestyle Medicine Week ลองใช้โอกาสนี้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ด้วยการมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Lifestyle) ทั้งด้านโภชนาการ ออกกำลังกาย การจัดการความเครียด นอนหลับอย่างเพียงพอ ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่และหลี่กเลี่ยงฝุ่น PM2.5 รวมถึงสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง เพื่อการมีสุขภาพที่ดีขึ้น และมีความสุขที่มากขึ้น
ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic
LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ