World Health Day l ก้าวแรกสู่สุขภาพที่ดี ใส่ใจทุกคำ สำคัญต่ออนาคต
“ก้าวแรกสู่สุขภาพที่ดี ใส่ใจทุกคำ สำคัญต่ออนาคต”
‘เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า’ โลกของเรากำลังเข้าสู่ภาวะประชากรลดลง เห็นได้จากอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate, TFR) หรือ ตัวเลขที่แสดงถึงจำนวนบุตรที่ผู้หญิงหนึ่งคนจะมีได้ในช่วงวัยเจริญพันธุ์
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (United Nation) รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2567 อัตราการเจริญพันธุ์รวมของโลกอยู่ที่ 2.2 ต่อผู้หญิง 1 คน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 1.20 แสดงให้เห็นว่าเมื่อผู้หญิง 1 คนมีบุตรน้อยกว่า 2 คน ประชากรจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเด็กเกิดใหม่ มีจำนวนน้อย ไม่สามารถทดแทนจำนวนของประชากรเดิมได้ เด็กจึงเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากของทุกประเทศ สอดคล้องกับวันอนามัยโลกในปีนี้ที่ว่า “Healthy beginnings, hopeful futures” ที่มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพของแม่และทารก เพื่อให้เด็กเติบโตแข็งแรงและมีพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม การดูแลเรื่องโภชนาการของเด็กตั้งแต่วัยทารก จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยหลักการดูแลเรื่องอาหารทารกมีดังนี้
สมวัย - ระบบต่าง ๆ ในร่างกายของทารกยังมีการพัฒนาไม่เต็มที่ ในช่วง 6 เดือนแรก ทารกจะมีน้ำย่อยที่ใช้ในการย่อยแป้ง ไขมัน และโปรตีนในปริมาณน้อย อีกทั้งไตยังมีความสามารถในการกรองของเสียเพียง 15% เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ และจะเพิ่มขึ้นจนเท่าผู้ใหญ่เมื่ออายุ 2 ปี การได้รับโปรตีนมากเกินไปในช่วงวัยทารก อาจทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดได้ ทารกจึงควรดื่มแต่นมแม่จนกว่าจะอายุครบ 6 เดือน จากนั้น จึงสามารถเริ่มอาหารตามวัยอื่น ๆ ควบคู่ไปกับนมแม่ได้
เพียงพอ - ทารกมีความจุกระเพาะอาหารจำกัด จึงควรได้รับอาหารตามวัยที่มีความเข้มข้นของพลังงานเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงอายุ อีกทั้งจำเป็นต้องมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ และไม่ควรมีการปรุงแต่งรสด้วยสารเติมแต่ง เช่น น้ำตาล น้ำผึ้ง ผงชูรส ผงปรุงรส เป็นต้น
ปลอดภัย – การเตรียมและเก็บอาหารควรเป็นไปตามหลักอนามัย อุปกรณ์ที่ใช้ต้องสะอาด มีการล้างมือก่อนเตรียมและป้อนอาหาร ระมัดระวังไม่ให้ทารกสำลักอาหาร และไม่ควรบังคับหรือป้อนอาหารมากเกินไป เนื้อสัมผัสของอาหารควรมีความละเอียดและเหมาะสมกับช่วงวัย เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการในการเคี้ยวและกลืนที่ดีขึ้น
จะเห็นได้ว่า อาหารสำหรับทารกมีรายละเอียดที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การเลือกอาหารที่เหมาะสมทั้งในด้านปริมาณ และคุณค่าทางโภชนาการ ล้วนมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว
เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) ประจำวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2568 ขอให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการใส่ใจในองค์ประกอบอาหารของทารก เพื่อที่เด็กจะเติบโตอย่างแข็งแรง มีพัฒนาการที่ดีสมวัย เป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต
แหล่งที่มา
- United Nations. Dept. of Economic. World Fertility Report. UN; 2007.
- อุมาพร สุทัศน์วรวุฒิ, สุภาพรรณ ตันตราชีวธร, สมโชค คุณสนอง. คู่มืออาหารตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก. นนทบุรี: บียอนด์เอ็นเทอไพรซ์; 2552.