ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

เมื่ออาหาร กลายเป็นขยะ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
16 ต.ค. 2563
-
 
World Food Day 16 ตุลาคม 2020

ปัจจุบันประชากร 870 ล้านคนทั่วโลก กำลังเผชิญกับความหิวโหย ในขณะที่แต่ละปียังมีอาหารเหลือทิ้งจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตในสหรัฐอเมริกาที่ทิ้งอาหารมากกว่า 43 พันล้านปอนด์ต่อปี และในประเทศไทยเอง จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษในปี 2560 พบว่า ปริมาณขยะอาหารคิดเป็น 64% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด หรือคิดเป็น 254 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเพียงปริมาณขยะมูลฝอยที่เก็บโดยเทศบาลเท่านั้น ยังไม่รวมขยะอาหารจากภาคธุรกิจที่จ้างบริษัทเอกชนดำเนินการ ​

 

ขยะอาหารเหล่านั้นเกิดจาก 4 สาเหตุใหญ่ คือ​
  1. เศษอาหารเน่าเสียเนื่องจากหมดอายุ จากการเก็บรักษา หรือซื้อไว้มากเกินไป​
  2. เศษอาหารที่ถูกทิ้งจากการเตรียมทำอาหาร การหั่น การเด็ด การตัด พืชผัก ผลไม้​
  3. เศษอาหารที่เหลือจากจานลูกค้า เพราะกินไม่หมด​
  4. เศษอาหารที่เหลือจากบุฟเฟ่ต์ เนื่องจากทำอาหารมากเกินไป ​

​ 

6 วิธีง่าย ๆ ช่วยลดขยะอาหาร​

 

1. วางแผนก่อนซื้ออาหาร ​

คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะซื้ออาหารมากเกินกว่าความต้องการจริง อาจใช้วิธีจดรายการอาหารที่ต้องการและยึดตามรายการนั้น หรือ ถ่าย “Shelfie” ภาพชั้นอาหารไว้ เพื่อดูรูปของในตู้เย็น ซึ่งจะช่วยเตือนว่ายังมีอาหารใดเหลืออยู่บ้าง​

2. กินในขนาดที่พอเหมาะ ​

รู้จักปริมาณอาหารที่ตัวเองกิน เลือกซื้อหรือปรุงอาหารเท่าที่ตนเองรับประทาน เพราะวิธีนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดอาหารที่เหลือทิ้ง แต่ช่วยให้น้ำหนักตัวของคุณไม่เพิ่มขึ้นด้วย​

3. เก็บรักษาอาหารอย่างถูกวิธี ​

เรียนรู้วิธีการเก็บรักษาอาหารที่ถูกต้อง ป้องกันการเน่าเสียก่อนเวลา เพราะบางครั้งตู้เย็นของคุณอาจแน่นหนาเกินไปจนทำให้ลืมว่ามีอะไรถูกเก็บไว้บ้าง ควรปฏิบัติตามหลัก “FIFO” หรือ “First in, First out” คือการเลือกนำอาหารที่ซื้อก่อนมารับประทานก่อนนั้นเอง​

4. ศึกษาเรื่องวันหมดอายุ​

เลือกซื้ออาหารที่ตัวเองสามารถรับประทานได้ทันเวลา หากผลิตภัณฑ์ระบุ “วันหมดอายุ (Used by date)” หมายถึง วันสุดท้ายที่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์ ส่วนคำว่า “ควรบริโภคก่อน (Best before)” คือ ผลิตภัณฑ์นั้นจะสดใหม่และคุณภาพดีก่อนวันที่ระบุ แต่ถ้าหากเลยวันไปแล้วก็ยังสามารถบริโภคได้​

5. เศษอาหารที่เกิดจากการตัดแต่ง ​

ศึกษาวิธีการหั่นอาหารเพื่อให้เหลือเศษอาหารน้อยที่สุด​

6. เลือกที่จะแบ่งปัน ​

การแบ่งปันอาหารให้คนที่ยังขาดแคลนอาหารได้อิ่มท้อง เป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะระบายอาหารที่มีเก็บไว้ไม่ให้เหลือทิ้งได้เช่นกัน​

 

แหล่งที่มา
  1. FAO: Food and Agriculture Organization of the United Nations [Internet] [cited 2020 Sep 28]. Available from: https://www.un.org/…/fao-food-and-agriculture-organizatio…/​
  2. Pennapa Thongsai. FOOD WASTE MANAGEMENT เรื่องที่เป็นไปได้หรือยังห่างไกลความเป็นจริง BECOME A ZERO FOOD WASTE HERO [Internet]. 4 กุมภาพันธ์ 2563 [เข้าถึงเมื่อ 28 ก.ย. 2563]. เข้าถึงได้จาก: https://www.th.thairt.org/blog/become-a-zero-food-waste-hero
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved