อาหารวีแกน..มีประโยชน์อย่างไร?
การรับประทานอาหารมังสวิรัติ (Vegetarian) คือการรับประทานอาหารจากผักและผลไม้เป็นหลัก แต่ยังสามารถรับประทานไข่ นม และน้ำผึ้งได้ ส่วนอาหารวีแกน (Vegan) คือการรับประทานเฉพาะผักและผลไม้เท่านั้น โดยไม่รับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย อีกทั้งการรับประทานมังสวิรัติเป็นครั้งคราว (Flexitarian) ยังเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลดการบริโภคเนื้อสัตว์และเน้นการกินอาหารจากผักและผลไม้เพิ่มขึ้น
ในปัจจุบันคนนิยมหันมารับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก รวมถึงลดการบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู ไส้กรอก เบคอน เพราะสามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ลดการใช้ทรัพยากรน้ำ สารเคมี และยาปฏิชีวนะ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ทั้งยังมีงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
-
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs)
ได้แก่ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 และโรคหัวใจและหลอดเลือด จากการบริโภคไขมันอิ่มตัวน้อยลง และระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide) ในเลือดที่ลดลง ซึ่งงานวิจัยพบว่าระดับสาร TMAO ที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
-
ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด
เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านมซึ่งเป็นผลจากสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่อยู่ในอาหารแปรรูป อีกทั้งการบริโภคผักผลไม้ที่เพิ่มขึ้นยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้
-
ช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม
จากการได้รับพลังงานจากไขมันสัตว์น้อยลง รวมทั้งการรับประทานอาหารจากพืชทำให้ได้รับใยอาหารมากขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มท้องมากขึ้นอีกด้วย
-
เพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในร่างกาย
เพราะพืชมีสารพฤกษเคมี (Phytonutrients) หลายชนิด ช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสื่อมของเซลล์และการเกิดโรคต่าง ๆ
-
เสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ (Probiotics)
ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เนื่องจากลำไส้ที่แข็งแรงทำหน้าที่เสมือนปราการสำคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการบริโภคใยอาหารจากผักและผลไม้เป็นประจำจึงช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีได้
แนวทางการรับประทานวีแกน หรือมังสวิรัติเป็นครั้งคราวช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น แต่เชื่อว่าหลายคนอาจเป็นกังวลว่าอาจได้รับโปรตีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ความเป็นจริงแล้วการรับประทานอาหารจากพืชสามารถให้โปรตีนอย่างเพียงพอได้ โดยแนะนำให้รับประทาน ข้าวไม่ขัดสี เต้าหู้ หรือถั่วหลากชนิด หมุนเวียนกันไป เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วแระ อัลมอนด์ ถั่วลิสง เม็ดมะม่วงหิมพานต์ เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เป็นต้น
ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic
โทร: 028269999
แหล่งที่มา
- Abbasi J. TMAO and Heart Disease: The New Red Meat Risk? JAMA. 2019;321(22):2149-51.
- Barnard ND, Cohen J, Jenkins DJ, Turner-McGrievy G, Gloede L, Jaster B, et al. A low-fat vegan diet improves glycemic control and cardiovascular risk factors in a randomized clinical trial in individuals with type 2 diabetes. Diabetes care. 2006;29(8):1777-83.
- Aleksandrowicz L, Green R, Joy EJ, Smith P, Haines A. The impacts of dietary change on greenhouse gas emissions, land use, water use, and health: a systematic review.