อัตราเด็กอ้วนพุ่งสูง ในช่วงปิดเทอม

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
22 พ.ค. 2566
-

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผย เด็กไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ติด 1 ใน 3 ของอาเซียน ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) คาดการณ์ว่าภายในปีพ.ศ. 2578 ประชากรอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะ ‘อ้วน’ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมอนามัย จากการเฝ้าระวังภาวะเริ่มอ้วนและ‘อ้วน’ ในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข (Health Data Center) ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 พบว่า เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและ'อ้วน' ร้อยละ 9.13 เด็กวัยเรียน 6 - 14 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 13.4 และเด็กวัยรุ่น 15 - 18 ปี มีภาวะเริ่มอ้วนและ'อ้วน' ร้อยละ 13.2

 

 

พฤติกรรมช่วงปิดเทอม ที่ส่งผลต่อสุขภาพ

ช่วงปิดเทอมพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กมักเปลี่ยนไป เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ส่วนใหญ่มักใช้เวลาว่างไปกับการดูโทรทัศน์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ และการใช้โซเชียลมีเดีย ดูคลิป ฟังเพลงออนไลน์

 

จากการสำรวจเด็กไทย อายุ 12 ปี โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2560 พบว่า

  • 50% ของเด็กไทย ดื่มเครื่องดื่มรสหวาน 1-3 วันต่อสัปดาห์
  • 1 ใน 3 ของเด็กไทย รับประทานขนมถุงเป็นประจำทุกวัน

 

​จากการสำรวจผู้ปกครองของเด็กอายุ 3 - 5 ปี โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. 2563 พบว่า

  • ผู้ปกครอง 46.3% ให้บุตรหลานของตน ดื่มน้ำอัดลมได้
  • ผู้ปกครอง 57.9% ให้บุตรหลานของตน รับประทานขนมถุงได้

อีกทั้งการเห็นโฆษณาอาหารและเครื่องดื่ม สามารถกระตุ้นให้เด็ก ๆ อยากซื้อ อยากบริโภคอาหารมากขึ้น จนทำให้ได้รับพลังงานเกินจำเป็น

 

เด็กอ้วนแล้วไม่ดีอย่างไร?

เด็กที่มีภาวะเริ่มอ้วนและโรคอ้วนมักถูกตีตรา (Weight Stigma) ทำให้เกิดความเครียดและอับอาย ขาดความมั่นใจในการเรียนรู้และทำกิจกรรม ส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญหา เด็กที่ภาวะเริ่มอ้วนและโรคอ้วนมีแนวโน้มจะอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases, NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวานประเภทที่ 2 โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง เป็นต้น

 

คำแนะนำสำหรับผู้ปกครอง

พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกหลาน ส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ ให้รับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ ส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อป้องกันภาวะอ้วน โดยมีวิธีต่าง ๆ ดังนี้

  • ส่งเสริมให้เด็กวิ่งเล่นออกกำลังกาย เช่น ปั่นจักรยาน กระโดดเชือก ทำงานบ้าน
  • ทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวเพื่อลดเวลาการใช้สื่อออนไลน์
  • จัดอาหารให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ ลดการกินหวาน มัน เค็ม หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น รวมถึงอาหารแช่แข็งพร้อมทาน
  • ควบคุมการกินขนมกรุบกรอบ น้ำหวาน น้ำอัดลม ชานมไข่มุก จัดเตรียมนมรสจืดและผลไม้ไว้ในตู้เย็นแทน
  • ปลูกฝังนิสัยการกินผักและผลไม้ และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้ว เป็นประจำทุกวัน
  • สอนการอ่านฉลากโภชนาการหรือสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพบนบรรจุภัณฑ์ ช่วยให้เด็กสามารถเลือกขนมที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพได้ง่ายขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการให้เด็กกินอาหารจานใหญ่หรือซื้อขนมในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จนเกินไป เพราะขนาดที่บริโภคมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว
  • สนับสนุนให้เด็กเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9 - 11 ชั่วโมง

  

ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic

LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

แหล่งอ้างอิง
  • World Obesity Federation, World Obesity Atlas 2023. https://data.worldobesity.org/publications/?cat=19
  • กรมอนามัย. กรมอนามัย เผยเด็กไทยอ้วน เปิดอาหารชูสุขภาพ เสริมออกกำลังกายป้องกัน [ออนไลน์]. 2566, แหล่งที่มา : https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/news0633-2/ [12 เมษายน 2566]  
  • สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย. รายงานผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 8 ประเทศไทย พ.ศ. 2560. กรุงเทพมหานคร: สามเจริญพาณิชย์; 2561.
  • สรัญญา สุจริตพงศ์และคณะ. โครงการการวิเคราะห์ปัจจัยระดับบุคคลและทางสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในเด็กไทยและที่มีศักยภาพนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายภาครัฐ. นครปฐม:สถาบันวิจัยประชารกรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล; 2563.
Share:

Recommended Packages & Promotions

Dexa Scan คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

ตรวจวัดองค์ประกอบร่างกาย

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved