คุณมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานหรือไม่?

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
16 พ.ย. 2563
-

 

เพราะจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ​ จากรายงานของสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ หรือ International Diabetes Federation (IDF) ในปี 2562 พบว่าทั่วโลกมีจำนวนผู้ป่วยเบาหวานสูงถึง 463 ล้านคน และคาดว่าในอีก 26 ปีข้างหน้า ตัวเลขจะเพิ่มสูงถึง 700 ล้านคน​

ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับประเทศไทย ที่พบผู้ป่วยอายุตั้งแต่ ​ 20-79 ปี เป็นเบาหวานมากกว่า 4.8 ล้านคน คิดภาพง่าย ๆ ว่า ในทุก 11 คน จะมีคนป่วยเป็นโรคเบาหวาน 1 คนด้วยกัน และที่น่าตกใจคือ 40% ของกลุ่มผู้ป่วยนั้นไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน​

​โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 4 ชนิด คือ ​
  1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes mellitus, T1DM)
  2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes mellitus, T2DM) 
  3. เบาหวานที่มีสาเหตุจําเพาะ (other specific types)
  4. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes Mellitus, GDM)

โดยเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุดสูงถึง 90% และเป็นสาเหตุหลักที่นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อาทิ จอประสาทตาถูกทำลาย (Diabetic Retinopathy) โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease) หัวใจล้มเหลว (Heart failure) หลอดเลือดสมองอุดตัน (Stroke) และการเกิดแผลเบาหวานเรื้อรัง (Diabetic Ulcer) ​

 

รู้ไหมใครเสี่ยง ? ​8 ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีดังนี้​

 

1. พันธุกรรม

มีหลายการศึกษาที่พบว่าการเกิดโรคเบาหวานนั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับพันธุกรรม ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเราสามารถหาความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานจากการตรวจทางรหัสพันธุกรรม (Genetic testing) ได้ ตัวอย่างยีนที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน เช่น​

  • ยีน TCF7L2 ที่มีผลต่อการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินและการผลิตกลูโคสจากตับ ​
  • ยีน GLUT2 ที่มีจะตรวจจับระดับน้ำตาลภายนอกเซลล์ ส่งสัญญาณเพื่อปรับการทำงานของเซลล์และการหลั่งของอินซูลิน ​
  • ยีน GCGR ที่ทำให้ที่เป็นตัวรับฮอร์โมนกลูคากอน ทำให้เกิดการการสลายตัวของไกลโคเจนเป็นน้ำตาล ​

ดังนั้นการทราบความเสี่ยงของตนเองจากรหัสพันธุกรรมถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งทางการแพทย์ที่จะช่วยให้เราป้องกันหรือลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนั้น ๆได้อย่างถูกต้องนั่นเอง​

​2. รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ

การรับประทานใยอาหารจากผักและธัญพืชไม่เพียงพอ และทานอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสัตว์แปรรูป มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม กุนเชียง หมูยอ หรือเบคอน ​ 50 กรัมต่อวัน (ประมาณครึ่งฝ่ามือ) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อเบาหวานสูงถึง 51%​

​3. ขาดการออกกำลังกาย

เมื่อเราเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เราก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เพราะกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้เซลล์มีความไวต่อฮอร์โมนอินซูลินเพิ่มมากขึ้น และช่วยรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ได้อีกด้วย​

​4. โรคอ้วน

ยิ่งมีเซลล์ไขมันในร่างกายมากขึ้นเท่าไหร่ เซลล์ก็จะดื้อฮอร์โมนอินซูลินมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีไขมันในร่างกายเกิน 32% และผู้ชายที่มีไขมันเกิน 28% ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้อฮอร์โมนอินซูลินและเป็นเบาหวานเพิ่มมากขึ้น​

​5. ภาวะความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง

ในผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดที่สูงกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร​

​6. อายุที่มากขึ้น

เมื่อเราอายุมากขึ้นการเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลงทำให้เกิดการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้นง่าย ความเสี่ยงจึงเพิ่มสูงขึ้น​

​7. เบาหวานขณะตั้งครรภ์

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หลังคลอดบุตรจะมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาไปเป็นเบาหวานได้ในอนาคต​

​8. การสูบบุหรี่

สารเคมีจากบุหรี่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เซลล์เกิดการบาดเจ็บ และรบกวนการทำงานของเซลล์​

 

​กุญแจสำคัญในการป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2​
  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รักษาระดับมวลไขมันในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ​
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หรือเดินให้ได้ 10,000 ก้าวต่อวัน ​
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกรับประทานข้าวแป้งไม่ขัดสี เนื้อปลา เต้าหู้ ถั่วหลากชนิด รับประทานผักให้หลากหลายเป็นประจำ​
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ บริเวณที่มีมลภาวะ ฝุ่น ควัน หรือบริเวณที่มีผู้คนแออัด​
  • ตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี เพื่อหาความเสี่ยงเบาหวานจากผลเลือด เช่น ตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (FBS) น้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1C) ระดับฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และพันธุกรรมเพื่อหาความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน​

แม้ว่าพันธุกรรมจะเป็นความเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคเบาหวาน แต่การดูแลตนเอง โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อร่างกาย ก็สามารถช่วยป้องกันหรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้​

 

แหล่งที่มา
  1. Laurenti MC, Dalla Man C, Varghese RT, Andrews JC, Rizza RA, Matveyenko A, et al. Diabetes-associated genetic variation in TCF7L2 alters pulsatile insulin secretion in humans. JCI Insight. 2020;5(7):e136136.​
  2. Leturque A, Brot-Laroche E, Le Gall M. GLUT2 mutations, translocation, and receptor function in diet sugar managing. American Journal of Physiology-Endocrinology and Metabolism. 2009.​
  3. Gelling RW, Vuguin PM, Du XQ, Cui L, Rømer J, Pederson RA, et al. Pancreatic β-cell overexpression of the glucagon receptor gene results in enhanced β-cell function and mass. American Journal of Physiology-Endocrinology and Metabolism. 2009;297(3):E695-E707.​
  4. IDF Western Pacific members. Total cases of diabetes in Thai population 2020 [updated 14 May 2020; cited 2020 26 October]. Available from: https://www.idf.org/.../members/115-thailand.html.%E2%80%8B
  5. American Heart Association(AHA). Understand Your Risk for Diabetes ​ [updated 30 August 2015; cited 2020 26 October]. Available from: https://www.heart.org/.../understand-your-risk-for...
  6. Centers for Disease Control and Prevention(CDC). SMOKING AND DIABETES 2014 [cited 2020 26 October]. Available from: https://www.cdc.gov/.../fs_smoking_diabetes_508.pdf.%E2...
  7. Pan, An, et al "Red meat Consumption and risk of type 2 diabetes: 3 cohorts of US adults and an updated meta-analysis". American Journal of Clinical Nutrition. August 2011 ​
  8. Micha, Renata, et al "Unprocessed Red and Processed Meats and Risk of Coronary Artery Disease and Type 2 Diabetes- An Updated Review of the Evidence". Current artherosclerosis reports. 2012 Dec;14(6): 515-524
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved