วัคซีนพื้นฐานในแต่ละช่วงวัย ที่ไม่ว่าจะวัยไหนก็ไม่ควรละเลย
วัคซีน (Vaccine) คือสารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าไปในร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ผลิตมาจากเชื้อโรค ส่วนประกอบของเชื้อโรค หรือพิษของเชื้อโรคที่ถูกทำให้ไม่สามารถก่อโรคได้ เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายคนเรา จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคนั้น ๆ ได้
เนื่องด้วยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เชื้อโรคหลายชนิดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีการเกิดโรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ร่างกายของเราจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่เฉพาะเด็กเท่านั้นที่วัคซีนมีความสำคัญ ในวัยรุ่น-วัยผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคเช่นกัน
วัคซีนพื้นฐานในแต่ละช่วงวัย
วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในช่วงอายุตั้งแต่ 19 – 64 ปี
1. วัคซีนป้องกันคอตีบและบาดทะยัก
ควรรับการฉีดกระตุ้นทุก ๆ 10 ปี
2. วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี
ควรได้รับการตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
3. วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
การฉีดวัคซีนจะเป็นการจำกัดการแพร่ระบาดของเชื้อให้อยู่ในวงแคบลง และกลุ่มเสี่ยงก็จะสัมผัสเชื้อน้อยลง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรงและลดการสูญเสียได้มาก
4. วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน
สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) ที่สามารถป้องกันโรคคางทูม โรคหัด และโรคหัดเยอรมันได้ภายในเข็มเดียวกัน
5. วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV
ช่วยป้องกันเชื้อไวรัส HPV ซึ่งก่อโรคมะเร็งปากมดลูก ในกลุ่มผู้หญิงอายุตั้งแต่ 9 – 26 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากวัคซีนนี้ และกลุ่มที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธุ์จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุด
วัคซีนที่จำเป็นต้องฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป
โดยทั่วไป เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี จะจัดว่าเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุ” ซึ่งภูมิต้านทานโรคตามธรรมชาติในร่างกายจะเริ่มลดลง โดยวัคซีน 3 ชนิดที่แนะนำให้ผู้สูงอายุควรฉีด ได้แก่
1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ (Influenza Vaccine)
ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว มักมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงถึงขั้นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สูง รวมทั้งอัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ก็สูงตามไปด้วย ผู้สูงอายุทุกคน ควรฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ทุกปี โดยปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 4 สายพันธุ์ขนาดสูง (High Dose Flu Vaccine For Elderly) ที่ป้องกันการติดเชื้อ ลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและโรคแทรกซ้อนจากปอดอักเสบได้มากกว่า
2. วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (Pneumococcal Vaccine)
เชื้อนิวโมคอคคัสก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบรุนแรง ไปจนถึงทำให้พิการและเสียชีวิตได้ ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแบบรุกรานได้ง่ายกว่าคนหนุ่มสาว การรับวัคซีนดังกล่าวจึงมีประโยชน์ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้
3. วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (Herpes Zoster)
โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัส VZV เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง โรคงูสวัดจะเริ่มแสดงอาการออกมา เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นช่วงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัดสูงสุด และผู้ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้หากป่วยด้วยโรคงูสวัดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ การฉีดวัคซีนจะลดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ
สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายและวิเคราะห์ชนิดวัคซีนที่ร่างกายต้องการโดยละเอียด สามารถวางแผนร่วมกับทีมงาน Vaccine Clinic และแพทย์ Lifestyle Medicine ในการเข้ารับบริการได้อย่างเหมาะสมกับร่างกายของแต่ละบุคคล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือทำการนัดหมาย
โทร: 028269999
Line: @bdmswellnessclinic หรือ https://bit.ly/3DYI2XE
Reference
- คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรค สำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566
- 5 วัคซีนที่ผู้สูงวัยไม่ควรละเลย https://www.bangkokhospital.com/content/5-vaccines-for-elderly
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สำหรับผู้สูงอายุ 65+ https://www.bangkokhospital.com/package/a-high-dose-flu-vaccine-for-elderly-age-over-65
- วัคซีน คืออะไร…แล้วทำไมเราถึงต้องฉีดวัคซีน ? https://www.gj.mahidol.ac.th/main/knowledge-2/what-is-vaccine/
- วัคซีนพื้นฐานที่คนแต่ละช่วงอายุควรฉีดมีอะไรบ้าง? https://www.hitap.net/183144