รู้ทันโรคเบาหวาน เข้าใจอาการ สาเหตุ และวิธีป้องกัน

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
04 ธ.ค. 2567
-

รู้ทันโรคเบาหวาน อาการ สาเหตุ วิธีป้องกัน เข้าใจ รักษาได้

  

ผู้หญิงรับประทานของหวานเป็นประจำเสี่ยงโรคเบาหวาน

  

"โรคเบาหวาน" หนึ่งในภัยร้ายทางสุขภาพ ที่มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่าปล่อยให้รู้ตัวเมื่อสาย มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดโรคเบาหวาน ทั้งสาเหตุ พร้อมวิธีสังเกตอาการ รวมถึงวิธีป้องกันและแนวทางในการรักษากัน

รู้จักโรคเบาหวาน และสาเหตุของการเกิดโรค

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ จนเกิดน้ำตาลสะสมในเลือดปริมาณมาก ส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้เป็นโรคเบาหวานในที่สุด ซึ่งสามารถแยกสาเหตุของโรคเบาหวานตามประเภทที่พบโดยทั่วไปออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

  • เบาหวานประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ส่งผลให้ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด พบได้บ่อยในเด็กและวัยรุ่น
  • เบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หรือเกิดภาวะการดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ขาดการออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
  • เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของอินซูลินและการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน

อายุที่มากขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากการทำงานในระบบต่าง ๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสภาพ รวมไปถึงการทำงานของตับอ่อนและการตอบสนองต่ออินซูลิน

พันธุกรรม

หากมีบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้ เนื่องจากสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้

โรคต่าง ๆ

โรคบางชนิดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด

ความเครียด

ความเครียดเรื้อรัง สามารถส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดและการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน นอกจากนี้ ความเครียดยังอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการขาดการออกกำลังกาย ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน

การตั้งครรภ์

สตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย แม้ว่าภาวะนี้มักจะหายไปหลังคลอด แต่ผู้ที่เคยมีประวัติเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ในอนาคต

ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่

พฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน คือการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการทำงานของตับและตับอ่อน ซึ่งมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงการสูบบุหรี่ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 และยังส่งผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

  

แพทย์กำลังตรวจเลือดหาความเสี่ยงโรคเบาหวาน

   

สังเกตอาการเสี่ยงโรคเบาหวาน

  • ปัสสาวะบ่อยผิดปกติ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน เนื่องจากร่างกายพยามขับน้ำตาลส่วนเกินออกมา
  • กระหายน้ำ คอแห้ง หิวน้ำบ่อย เนื่องจากร่างกายพยายามขับน้ำตาลส่วนเกินทางปัสสาวะ จึงทำให้ต้องการน้ำเข้าไปทดแทนมากกว่าปกติ
  • น้ำหนักลดลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง 
  • แผลหายช้า โดยเฉพาะบริเวณเท้า เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดี และระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง หากสังเกตว่าแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้เวลาในการหายนานผิดปกติ ควรให้ความสนใจและปรึกษาแพทย์

แนวทางการดูแลรักษาสุขภาพ ให้ห่างไกลเบาหวาน

สำหรับวิธีป้องกันโรคเบาหวาน คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังต่อไปนี้

เลือกรับประทานอาหาร

ควรเน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ ผักสด ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี และโปรตีนคุณภาพ เช่น ปลา ไข่ ถั่ว และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน รวมทั้งหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและไขมันสูง เช่น อาหารทอด ขนมหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และลดการสะสมของไขมันที่เป็นปัจจัยก่อให้เกิดโรคเบาหวาน

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

อีกหนึ่งวิธีป้องกันโรคเบาหวานที่ไม่ควรมองข้าม คือการออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ช่วยกระตุ้นการเผาผลาญน้ำตาลและไขมันในร่างกาย รวมถึงให้ความใส่ใจกับการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น เช่น ใช้บันไดแทนลิฟต์ เดินไปขึ้นรถไฟฟ้า หรือทำงานบ้าน เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกายให้เป็นกิจวัตร

ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

หากมีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือมีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้ง่าย จึงควรควบคุมน้ำหนัก ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ปริมาณไขมันและน้ำตาลต่ำ และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 

ควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล และความดันโลหิต

ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อติดตามระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด รวมไปถึงความดันโลหิต และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ค่าเหล่านี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ นับเป็นวิธีสำคัญที่ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน 

หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่

การดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่น ๆ การลดหรือเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลจากเบาหวานได้มากขึ้น 

ดูแลสุขภาพจิตและการพักผ่อนให้เพียงพอ

การดูแลสุขภาพจิต ด้วยวิธีลดความเครียด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ส่งผลดีต่อการผลิตฮอร์โมนและระบบต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งช่วยให้การเผาผลาญของน้ำตาลและไขมันเป็นปกติ ลดโอกาสในการเกิดโรคเบาหวานได้

เมื่อรู้ทันโรคเบาหวาน ทั้งอาการ สาเหตุ และวิธีป้องกันแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจต้องการตรวจหาความเสี่ยงว่าตนเองหรือคนในครอบครัวจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ สามารถใช้บริการโปรแกรมการตรวจสุขภาพเชิงลึกที่ BDMS Wellness Clinic ดูแลและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อวางแผนการป้องกันหรือรักษาได้อย่างตรงจุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายแพทย์ได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official: @bdmswellnessclinic

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved