ก้าวอย่างปลอดภัย ด้วย 4 กลยุทธ์ป้องกันการล้มสำหรับวัยเก๋า

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
01 ต.ค. 2566
-
 
วันผู้สูงอายุสากล International Older Person’s Day 2023

 

ภาวะหกล้ม (Fall) ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพทางกายของผู้สูงอายุ ตั้งแต่การบาดเจ็บเล็กน้อย เช่น ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก ไปจนถึงกระดูกหักหรือศีรษะกระแทกพื้น รวมถึงมีผลกระทบต่อจิตใจ เพราะอาจทำให้เกิดความกลัว จนไม่กล้าทำกิจกรรมต่าง ๆ นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ลดลงและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นตามมา

โดยจากสถิติพบว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป หกล้มอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และมีจำนวนมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในชุมชนเมือง พบความเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าผู้ที่อาศัยในชนบทเสียอีก

เพราะ การหกล้ม เป็นเรื่องร้ายแรงอย่างมากเมื่อเกิดกับผู้สูงวัย เนื่องในวันผู้สูงอายุสากล เราจึงมีคำแนะนำในการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ มาฝากทุกคนกัน

คำแนะนำเพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สุงอายุ

ขยับวันละนิด เคลื่อนไหววันละหน่อย
  • หากิจกรรมที่ส่งเสริมเรื่องทรงตัวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขา เช่น ไทเก๊ก (Tai Chi)
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญถึงกิจกรรม หรือโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับพวกท่าน
อย่าลืม! ตรวจเช็กตาและเท้าให้ดี
  • หมั่นตรวจสุขภาพตาจากจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • เช็กค่าสายตาหรือแว่นตาที่พวกท่านสวมใส่ว่าเหมาะสมหรือไม่
  • หมั่นตรวจสุขภาพเท้าจากผู้เชี่ยวชาญอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • สอบถามลักษณะ และวัสดุของรองเท้าที่สวมใส่ ที่เหมาะสมกับพวกท่าน
บ้าน : ที่ ๆ ใกล้ตัวที่สุด ต้องปลอดภัยที่สุด
  • สำรวจพื้นที่ภายในและบริเวณโดยรอบที่พักอาศัย ที่มีความเสี่ยงต่อการลื่นล้ม ไม่ว่าจะเป็น พื้นกระเบื้องที่เปียกน้ำ บันไดทางขึ้น-ลง ห้องน้ำ ห้องครัว และทางเดินที่มีความลาดชัน
  • หลีกเลี่ยงการวางสิ่งกีดขวางที่พื้น และหมั่นให้พื้นแห้งสนิทอยู่เสมอ
  • เลือกใช้วัสดุที่กันลื่น ไม่มีรอยแตก ร่องหลุม ควบคู่กับการมีราวจับ 
  • ควรมีไฟส่องสว่างทั่วถึงทุกบริเวณของบ้าน
ทุกอย่างเริ่มต้นจากการพูดคุย
  • สอบถามกับผู้ชำนาญการ เมื่อคนที่คุณรักมีความเสี่ยงในการหกล้ม
  • หมั่นคอยสังเกตยา หรือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่พวกท่านรับประทาน โดยศึกษาผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาการมึนงง เพลีย ง่วงนอน ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอ
  • สอบถามผู้เชี่ยวชาญถึงอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ส่งเสริมความแข็งแรงของกระดูก กล้ามเนื้อ และระบบประสาท

 

การทำตามคำแนะนำเหล่านี้ จะช่วยลดอุบัติเหตุการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ พวกเราจึงขอใช้โอกาสในวันผู้สูงอายุสากล 1 ตุลาคม 2566 รณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ และตระหนักในคุณค่าของผู้สูงอายุประชากรวัยเก๋า (ประสบการณ์) อันเป็นที่รักของเรา

 

ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic

โทร: 028269999

LINE: @bdmswellnessclinic

 

รายการอ้างอิง
  1. Li FF, Zhou DD, Ye ZF, Ren J, Xue C, Peng JJ, et al. Epidemiologic characteristics of fall in the elderly in urban and rural areas in Shanghai. Zhonghua liu xing bing xue za zhi  = Zhonghua liuxingbingxue zazhi. 2019;40(7):779-85.
  2. Salari N, Darvishi N, Ahmadipanah M, Shohaimi S, Mohammadi M. Global prevalence of falls in the older adults: a comprehensive systematic review and meta-analysis. Journal of Orthopaedic Surgery and Research. 2022 Jun 28;17(1):334.
  3. Centers for Disease Control and Prevention. Keep on Your Feet [Internet]. 2023 Mar 24 [cited 2023 Jul 26]. Available from: https://www.cdc.gov/injury/features/older-adult-falls/index.html
  4. ธัญญรัตน์ อโนทัยสินทวี, .แสงศุลีธรรม ไกรสร, พัฒน์ศรี ศรีสุวรรณ, ชลัญธร โยธาสมุทร,บรรณาธิการ. ยากันล้ม คู่มือป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ; 2562.

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved