2 อันตราย ! ภาวะคอเลสเตอรอลสูง อาการที่เป็นต้นเหตุของโรคร้าย

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
04 ธ.ค. 2567
-

รู้ทันภาวะคอเลสเตอรอลสูง อาการที่เป็นต้นเหตุของโรคร้าย

  

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง มีอาการอย่างไร

  

คอเลสเตอรอล เป็นสารไขมันที่ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองบางส่วน และได้รับจากอาหารบางประเภท ซึ่งที่จริงแล้วเป็นสารที่มีบทบาทสำคัญต่อร่างกาย แต่ถ้าหากมีระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับของไขมันเลว (LDL) ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และเสี่ยงต่อการนำไปสู่โรค

ร้ายแรงต่าง ๆ มากมาย ในบทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจกันให้มากขึ้น พร้อมตอบชัดว่าภาวะคอเลสเตอรอลหรือไขมันสูง มีอาการอย่างไร และมีข้อห้ามอะไรบ้างที่จะช่วยรักษาระดับไขมันให้เป็นปกติ

คอเลสเตอรอล คืออะไร ?

คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้ และพบได้ในอาหารทั่ว ๆ ไป ถือได้ว่าเป็นไขมันที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกระบวนการสร้างเซลล์ต่าง ๆ ซึ่งร่างกายจะต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อนำไปช่วยให้กระบวนการทำงานภายในเป็นไปตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คอเลสเตอรอลจะมีข้อดี แต่หากระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดสูงเกินไป ก็อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ โดยภาวะคอเลสเตอรอลหรือไขมันสูงจะมีอาการปวดหัว หายใจลำบาก เป็นสัญญาณหลัก ๆ ที่บ่งบอกว่าคอเลสเตอรอลเกาะตัวตามผนังหลอดเลือดเป็นจำนวนมาก จนหลอดเลือดกำลังตีบตัน ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

รู้จักชนิดของคอเลสเตอรอล

  • คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) ทำหน้าที่ในการนำคอเลสเตอรอลส่วนเกินจากเซลล์กลับไปยังตับ เพื่อทำลายหรือขับออกในรูปของเสียจากร่างกาย
  • คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ทำหน้าที่ขนส่งคอเลสเตอรอลไปยังเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย หากมีมากกว่าที่เซลล์ต้องการก็จะไปสะสมที่บริเวณผนังหลอดเลือด เป็นชนิดที่อันตรายและส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้

รู้จักภาวะคอเลสเตอรอลสูง คืออะไร อาการ และสัญญาณเตือน

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง คือภาวะที่ระดับคอเลสเตอรอล หรือไขมันในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่ร่างกายต้องการ จนอาจทำให้เป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง นอกจากนี้ยังเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อีกด้วย

ระดับคอเลสเตอรอลสูงเท่าไหร่ถึงอันตราย ?  

ระดับคอเลสเตอรอลและไขมันในเลือดที่สูงเกินไป เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยคอเลสเตอรอลแต่ละประเภทมีบทบาทที่ต่างกันและมีเกณฑ์ที่ควรรักษาให้เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ ดังนี้

  • High-Density Lipoprotein (HDL) ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลที่ “ดี” ควรมีค่าไม่น้อยกว่า 60 mg/dL
  • Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นคอเลสเตอรอลที่ “ไม่ดี” มีโอกาสเกิดการสะสมตามผนังหลอดเลือด จนทำให้หลอดเลือดแข็งและแคบได้ ดังนั้น จึงควรรักษาระดับให้อยู่ในค่าที่ร่างกายต้องการ 
    • ระดับ LDL ทั่วไปสำหรับผู้ใหญ่ ไม่ควรเกิน 130 mg/dL 
    • ในกรณีที่มีภาวะหรือปัจจัยเสี่ยงจากโรคอื่นร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจก่อนวัยอันควร ก็ควรรักษาระดับ LDL ไม่ให้เกิน 100 mg/dL 
  • Triglycerides เป็นไขมันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากน้ำตาลและแป้ง หากมีระดับสูงเกินไปจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคไขมันพอกตับได้ ดังนั้น จึงควรรักษาระดับปกติในเลือดไม่ให้เกิน 150 mg/dL 
  • Total Cholesterol คือปริมาณคอเลสเตอรอลทั้งหมดในเลือด โดยคนปกติทั่วไป ไม่ควรมีระดับสะสมน้อยกว่า 200 mg/dL

สัญญาณเตือนภาวะคอเลสเตอรอลสูง มีอาการอย่างไร ?

ภาวะคอเลสเตอรอลและไขมันสูง อาจไม่มีอาการที่แสดงอย่างชัดเจนในระยะแรก ทำให้หลายคนไม่ทราบถึงความเสี่ยง แต่เมื่อระดับคอเลสเตอรอลสูงมากพอ จะเริ่มปรากฎอาการต่าง ๆ ได้แก่

  • ปวดตื้อ เจ็บแน่นหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • รู้สึกปวดขาเวลาเดิน
  • มีอาการชาที่ปลายมือปลายเท้า
  • มีอาการมึนงง หน้ามืด และตาพร่ามัว 

เจาะสาเหตุที่ทำให้คอเลสเตอรอลพุ่งสูง

ดูแลสุขภาพให้ดี ห่างไกลภาวะคอเลสเตอรอลสูง ต้องเริ่มจากการรู้เท่าทันสาเหตุที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ดังนี้

  

ภาวะคอเลสเตอรอลสูง  ห้ามกินอะไร

  

1. สาเหตุจากพฤติกรรมและร่างกาย

  • การรับประทานอาหารที่ไม่ดี เพราะหลายคนอาจไม่รู้ว่าการป้องกันไม่ให้คอเลสเตอสูงนั้น ควรห้ามกินอะไรบ้าง จึงเลือกที่จะกินอย่างตามใจปาก เช่น เลือกอาหารปิ้งย่างที่มีไขมันสูง รวมถึงการกินเครื่องในสัตว์และไข่ในปริมาณที่เกินความจำเป็นต่อร่างกาย
  • ไม่ออกกำลังกาย เคลื่อนไหวน้อย
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ส่งผลให้เกิดการสะสมของระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ทั้งยังทำให้ระบบเผาผลาญแย่ลงอีกด้วย
  • สูบบุหรี่ หนึ่งในตัวการขัดขวางการทำงานของ HDL ทำให้คอเลสเตอรอลส่วนเกินไม่สามารถลำเลียงไปยังตับ และกำจัดออกในรูปแบบของเสียได้น้อยลง ทำให้เกิดการสะสม และไปเกาะตามผนังหลอดเลือด จนเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้
  • อายุมากขึ้น ร่างกายจะมีประสิทธิภาพในการกำจัด LDL ได้ลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการสะสมและเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

2. สาเหตุจากอาการป่วย

ปัญหาสุขภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน, โรคไต, โรคตับ และโรคต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง (Underactive Thyroid) ที่กระทบต่อการกำจัดไขมันส่วนเกิน ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้เช่นเดียวกัน

วิธีลดไขมันในเลือด บอกลาภาวะคอเลสเตอรอลสูง

การควบคุมระดับไขมันในเลือด เป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถลดความเสี่ยงจากภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิตให้เหมาะสม มีดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่ดี ให้ถูกหลักโภชนาการมากขึ้น และควรลดอาหารทอด ของมัน และอาหารรสเค็ม 
  • เน้นผักผลไม้และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อให้ได้รับพลังงานที่เพียงพอ และไปช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี
  • จำกัดปริมาณไขมันสัตว์ และรับประทานไขมันดีในปริมาณที่พอเหมาะ 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ลดการสะสมของไตรกลีเซอไรด์
  • ลดน้ำหนักส่วนเกิน เพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้ทำงานได้ดีขึ้นในระยะยาว
  • เลิกพฤติกรรมสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เป็นเวลา 3-5 วันต่อสัปดาห์
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากเกินไป หรือไม่ดื่มเลย

อย่ารอจนถึงวันที่ร่างกายเข้าสู่ภาวะคอเลสเตอรอลสูง และเผชิญกับอาการเสี่ยง เพราะคุณสามารถรู้เท่าทัน พร้อมป้องกันได้อย่างเหมาะสม ที่ BDMS Wellness Clinic กับบริการศูนย์สุขภาพเชิงป้องกัน Preventive Check Up ที่ช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพ โดยมีแพทย์ผู้ชำนาญการที่พร้อมให้บริการประเมินสุขภาพโดยรวมของร่างกาย และค้นหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อนำไปวางแผนการดูแลสุขภาพในระยะยาว ภายใต้คำแนะนำในการวางแผนการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพ (Lifestyle Medicine) สอบถามเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official: @bdmswellnessclinic

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved