ไขมันพอกตับ สัญญาณโรคร้าย ทำลายตับ

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
29 ม.ค. 2567
-

 

ตับ เป็นอวัยวะสำคัญที่หน้าที่ต่าง ๆ มากกว่า 500 อย่าง มีส่วนสำคัญในกระบวนการเผาผลาญ การย่อยอาหาร การขจัดสารพิษ การกักเก็บสารอาหาร ฯลฯ แต่จะเกิดอะไรขึ้น หากอวัยวะที่สำคัญนี้กำลังโดนความเสียหายกัดกินอย่างเงียบ ๆ ด้วยโรคตับคั่งไขมัน หรือที่หลายคนเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า โรคไขมันพอกตับ

โรคไขมันพอกตับ ชื่อนี้ที่คุ้นเคย

โรคตับคั่งไขมัน หรือ โรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-Alcoholic Fatty Liver Disease, NAFLD) เป็นภาวะความผิดปกติของเซลล์ตับ ที่มีการสะสมของไขมันตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ในช่วงแรกมักไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน แต่หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที อาจเกิดการอักเสบซ้ำ ๆ จนเซลล์ตับเกิดความเสียหาย พัฒนากลายเป็นโรคตับแข็ง (Cirrhosis) ได้ และโรคไขมันพอกตับมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะเมตาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) ผู้ที่เป็นโรคนึ้ จึงมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประชากรทั่วไป 

ระยะของโรค ความเสียหายที่ค่อย ๆ คืบคลาน

โรคไขมันพอกตับ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ 

  1. Simple Fatty Liver (Steatosis) – ระยะที่มีการสะสมไขมันเพียงอย่างเดียว ไม่เกิดการอักเสบ
  2. Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH) – ระยะที่ตับเริ่มเกิดการอักเสบ ค่าเอนไซม์ตับเริ่มสูงขึ้น 
  3. Liver Fibrosis – ระยะที่มีการอักเสบเรื้อรังจนเกิดภาวะพังผืดของตับ 
  4. Cirrhosis– ระยะที่มีความรุนแรงมากเนื่องจากเซลล์ตับถูกทำลายไปมาก จนเกิดเป็นโรคตับแข็ง 

ข้อมูลด้านระบาดวิทยา

โรคไขมันพอกตับชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (NAFLD) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก จากพบเพียง 25.3% ในปี ค.ศ. 2006 เพิ่มขึ้นเป็น 38.2% ในปี ค.ศ. 2019 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรกว่า 1 ใน 4 ของประเทศกำลังเผชิญกับโรคร้ายนี้ และเชื่อว่าเป็นภาวะตับเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด ส่วนประเทศไทย จากการสำรวจสุขภาพประชากรไทยอายุมากกว่า 18 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับอยู่ที่ 19.7% โดยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง และส่วนใหญ่มีภาวะเมตาบอลิกซินโดรมร่วมด้วย

ใครเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้บ้าง?
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน – ผู้ที่มี BMI มากกว่า 24.9 kg/m2 หรือมีรอบเอวเกิน 80 ซม. ในผู้หญิง หรือ 90 ซม. ในผู้ชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีไขมันบริเวณช่องท้องมาก 
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes) – ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) มีส่วนสำคัญต่อการเกิดโรคไขมันพอกตับ และเพิ่มความรุนแรงของโรคได้
  • ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติ - ไม่ว่าจะเป็นค่าไตรกลีเซอร์ไรด์สูง, ค่า LDL คอเลสเตอรอลสูง หรือค่า HDL คอเลสเตอรอลต่ำ
  • รูปแบบการใช้ชีวิต – การรับประทานอาหารที่มีพลังงานและน้ำตาลสูง, การไม่ออกกำลังกาย, การนอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ, การสูบบุหรี่ ฯลฯ
  • เพศและอายุ – ความเสี่ยงของโรคนี้เพิ่มขึ้นในเพศชายและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • ภาวะอื่น ๆ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (PCOS) ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) ภาวะฮอร์โมนต่อมใต้สมองทำงานไม่เพียงพอ (Hypopituitarism) ฯลฯ

การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ปราการสำคัญสู่สุขภาพดี
  • รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ - หลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูง ไขมันสูงและน้ำตาลสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งไขมันอิ่มตัว ไขมันทรานส์ และอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำเชื่อมฟรุกโตสคอร์นไซรัป เน้นการรับประทานผักหลากสี ธัญพืชไม่ขัดสีและผลไม้ที่มีน้ำตาลต่ำ 
  • ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ - โดยออกกำลังกายชนิดแอโรบิก อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 30 นาทีต่อครั้ง 5 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับการออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ อย่างน้อย 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 
  • หมั่นควบคุมดูแลน้ำหนักตัวอยู่เสมอ - รักษาน้ำหนักตัวให้มีค่า BMI และมวลไขมันอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดย BMI อยู่ที่ระหว่าง 18.5 - 22.9 kg/m2 ส่วนมวลไขมันในผู้ชายไม่เกิน 28% และผู้หญิงไม่เกิน 32% สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนักอย่างน้อย 5% ขึ้นไป
  • เลี่ยงสารอันตราย – งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกฮอล์ งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น PM2.5 

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ เพื่อเข้ารับการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นร่วมกับการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีต่อสุขภาพ สามารถลดไขมันในตับและป้องกันไม่ให้โรคลุกลามรุนแรง

รายการอ้างอิง
  • Cusi K, Isaacs S, Barb D, Basu R, Caprio S, Garvey WT, et al. American Association of Clinical Endocrinology Clinical Practice Guideline for the Diagnosis and Management of Nonalcoholic Fatty Liver Disease in Primary Care and Endocrinology Clinical Settings: Co-Sponsored by the American Association for the Study of Liver Diseases (AASLD). Endocrine Practice. 2022 May 1;28(5):528–62.
  • The National Health Service England. Non-alcoholic fatty liver disease (NAFLD) [Internet]. 2022 [cited 2023 Apr 3]. Available from: https://www.nhs.uk/conditions/non-alcoholic-fatty-liver-disease/
  • Mayo Clinic. Nonalcoholic fatty liver disease [Internet]. 2021 Sep 22 [cited 2023 Apr 19]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/nonalcoholic-fatty-liver-disease/symptoms-causes/syc-20354567
  • พูลชัย จรัสเจริญวิทยา. การวิจัยและพัฒนาแนวทางป้องกันและรักษาโรคตับคั่งไขมันที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ในประชาชนชาวไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: พริ้นท์เอเบิ้ล; 2565.

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved