ฟันดี ชีวีมีสุข
ในปี 2021 ได้มีบทความจากองค์การอนามัยโลก หรือ World Health Organization กล่าวว่า สุขภาพในช่องปากนั้นส่งผลสำคัญในการทำงานของหลาย ๆ ระบบในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น การหายใจ การกิน การพูด การยิ้ม หรือ การเข้าสู่สังคม
มีการศึกษามากมายที่ยืนยันแล้วว่า สุขภาพในช่องปาก มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับสุขภาพทั่วไปของร่างกาย หากจะว่าไป ฟันคืออวัยวะด่านแรกที่จะพาอาหารเข้าสู่ร่างกาย หากปราศจากฟัน หรือหากฟันมีปัญหาแล้ว ก็จะส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร และระบบอื่นตามมา เช่นในกรณีที่ฟันผุลุกลามมาก มีอาการปวดฟัน ฟันเป็นหนอง ไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ก็อาจส่งผลให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก อาหารไม่ย่อย หรือบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งส่งผลให้ผู้มีโรคประจำตัวบางชนิดมีอาการรุนแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจบางประเภท เป็นต้น
บทความนี้อยากจะยกตัวอย่างของความสัมพันธ์ของสุขภาพช่องปากที่มีความสัมพันธ์กับโรคบางอย่างเช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น โรคเบาหวาน หมายถึง โรคที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติอย่างต่อเนื่อง และเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลที่ได้รับมาได้ตามปกติ ซึ่งอาจมาจากตับอ่อนที่สามารถหลั่งฮอร์โมนอินซูลินได้น้อย หรือผลิตได้ในปริมาณปกติ แต่ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ได้ ที่เราเรียกว่าภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance) ทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานตามมาหลายประการ
ส่วนโรคเหงือกอักเสบ ตามคำจำกัดความก็คือการมีการอักเสบของเหงือก โดยมากเกิดจากคราบจุลินทรีย์ที่ติดอยู่บนผิวฟันทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หากมีความรุนแรงจะก่อให้เกิดการอักเสบและการทำลายของอวัยวะปริทันต์ เรียกว่า โรคปริทันต์อักเสบ ทำให้มีอาการเหงือกบวมแดง มีเลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกร่น รู้สึกว่าฟันโยก และอาจนำไปสู่การสูญเสียฟันได้
โรคปริทันต์โดยมากมักมีอาการค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป อาการไม่เด่นชัด แต่เราสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ เช่น
- ขอบเหงือกแดง
- เหงือกบวม
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
- มีกลิ่นปาก
- ฟันโยกขยับออกจากตำแหน่งเดิม
- เหงือกร่น
เชื่อหรือไม่ว่าโรคเบาหวาน และโรคปริทันต์มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด โดยโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคและมีผลต่อความรุนแรงของโรคปริทันต์อักเสบ และในทางกลับกัน โรคปริทันต์อักเสบก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคเบาหวาน โดยการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุมให้ร่างกายลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานและช่วยควบคุมระดับความรุนแรงของโรคปริทันต์ได้ ลดโอกาสการสูญเสียฟัน และทำให้การตอบสนองต่อการรักษาโรคปริทันต์ดีขึ้น และในทางกลับกันสิ่งที่น่าสนใจคือ จากการศึกษามากมายพิสูจน์แล้วพบว่า ผู้ที่ผ่านการรักษาโรคปริทันต์อักเสบจนมีสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นด้วย
จากความสัมพันธ์ของทั้งสองโรคที่เกี่ยวข้องกันอย่างเด่นชัด การรักษาโรคจึงควรรับการรักษาแบบองค์รวมไปพร้อมๆ กัน ทั้งการพบแพทย์ด้านเบาหวาน ควบคู่กับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคปริทันต์ โดยพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อทำการตรวจประเมินสุขภาพช่องปาก คัดกรองความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ปัญหาโรคปริทันต์อักเสบในอนาคต รวมถึงควบคุมโรคในช่องปากให้มีสุขภาพที่ดี อันจะช่วยให้มีทุกท่านมีสุขภาพกายที่ดีควบคู่กันไปด้วย
จากการเก็บรวบรวมสถิติจากทั่วโลกพบว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อุบัติการณ์การเกิดฟันผุ โรคเหงือก และ การสูญเสียฟัน ยังคงเดิมคือ 45% สิ่งหนึ่งที่เรามักจะบอกคนไข้เสมอคือ การป้องกันมีความสำคัญกว่าการรักษา แต่น่าเสียดายที่เมื่อเราพบคนไข้ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ช่วงการรักษาเสียแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้ว การป้องกันนั้นทำได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่ามาก
เรามาดูกันว่าวิธีการดูแลรักษาฟันที่สามารถทำได้ไม่ยาก ทำได้อย่างไรบ้าง
- การแปรงฟัน แปรงให้ครบทุกด้าน โดยวางขนแปรงทำมุม 45 องศาเข้ากับตัวฟันและขอบเหงือก ขยับเบา ๆ ในแนวหน้าหลัง แล้วปัดขึ้นในฟันล่าง และปัดลงในฟันบน
- เลือกแปรงสีฟันที่ได้มาตรฐาน ด้ามตรง ปลายเรียว ขนนุ่ม ปลายขนแปรงมน
- ใช้ยาสีฟันที่เหมาะสม มีสารป้องกันฟันผุ หรือ สารเสริมสร้างความแข็งแรงของเนื้อฟัน เช่น ฟลูออไรด์ หรือ ไตรแคลเซียมฟอสเฟต นอกจากนี้ ยาสีฟันสมัยนี้ยังมีการเติมสารบางชนิด เช่น สารสตรอนเตรียมคลอไรด์ และโปรตัสเซียมไนเตรดช่วยลดอาการเสียวฟัน อีกด้วย นอกจากนี้ การเลือกยาสีฟัน ควรเลือกชนิดที่เนื้อละเอียด ไม่หยาบจนเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาฟันสึกจากผงขัดในยาสีฟัน
- ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ เวลาใช้ให้ดึงไหมขัดฟันออกจากกล่องยาวประมาณ 1 ฟุต โดยใช้นิ้วกลางพันไหมไว้ แล้วใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือจะปล่อยอิสระ เพื่อใช้ในการควบคุมการโอบของเส้นไหมไปรอบคอฟัน ถูเข้า-ถูออก ถูขึ้น-ถูลง ทำเช่นนี้กับฟันทุกซี่ เพื่อขจัดคราบอาหาร หรือคราบจุลินทรีย์ที่อยู่ระหว่างซอกฟัน
- พบทันแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน แต่ในบางรายอาจมีความจำเป็นต้องพบทันตแพทย์บ่อยกว่านั้น แล้วแต่ดุลยพินิจของทันตแพทย์
อาหารชนิดใดบ้างที่ส่งผลให้เกิดผลเสียต่อฟัน
- ลูกอม เนื่องจากในลูกอมมีน้ำตาลมาก น้ำตาลเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงกรด ทำให้ฟันผุกร่อนได้
- ขนมเค้ก นอกจากจะทำให้น้ำหนักเราเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ฟันผุ จากส่วนผสมของแป้ง และน้ำตาลอีกด้วย
- น้ำอัดลม นอกจากน้ำตาลที่มีอยู่ในน้ำอัดลมแล้ว กรดคาร์บอนิกในนั้นยังส่งผลให้ฟันกร่อน เคลือบฟันถูกทำลายอีกด้วย
- ผลไม้รสเปรี้ยว ผลไม้มีประโยชน์ก็จริง แต่หากทานมากไป โดยเฉพาะผลไม้รสเปรี้ยว กรดของผลไม้จะไปทำลายผิวเคลือบฟัน ทำให้ฟันกร่อน บางรายอาจมาพบทันตแพทย์เนื่องจากมีอาการเสียวฟัน
- ชา กาแฟ แม้มีงานวิจัยกล่าวว่าการดื่มกาแฟมากกว่า 6 แก้วต่อวันจะช่วยลดอาการฟันผุอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ดื่มน้อยกว่า แต่อย่าลืมว่าการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมาก จะส่งผลต่อการนอนหลับได้ ดังนั้นควรดื่มแต่พอประมาณ และไม่ควรใส่น้ำตาลมากจนเกินไป เพราะน้ำตาลจะเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุได้
จะเห็นได้ว่าการดูแลสุขภาพช่องปากนั้น ทำได้ไม่ยาก หากมีวินัย เข้าใจ และตั้งใจ ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนอยากเห็นทุกคนมีสุขภาพกาย สุขภาพฟันที่ดี ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกันไม่ใช่การรักษา
บทความโดย
ทันตแพทย์หญิงสุชาดา ก้องเกียรติกมล
ผู้ช่วยผู้อำนวยการคลินิกทันตกรรม บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก
ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมประดิษฐ์ใบหน้าและขากรรไกร
Reference
- WHO Discussion Paper: Draft Global Strategy on Oral health; 2021
- Bernabe E, Marcenes W, et al. Global, Regional, and National Levels and Trends in Burden of Oral Conditions from 1990 to 2017: A Systematic Analysis for the Global Burden of Disease 2017 Study. J Dent Res. 2020;99(4):362-373.
- Anila NP, Kori S. Can coffee prevent caries? J Conserv Dent. 2009;12(1):17-21.
- Simpson TC, Weldon JC, Worthington HV, Needleman I, Wild SH, Moles DR, Stevenson B, Furness S, Iheozor-Ejiofor Z. Treatment of periodontal disease for glycaemic control in people with diabetes mellitus. Cochrane Database Syst Rev. 2015 Nov 6;2015(11):
- Frisbee E. An Overview of Gum Disease [Internet]. WebMD. 2021 [cited 7 January 2022]. Available from: https://www.webmd.com/oral-health/guide/gingivitis-periodontal-disease