โรคเกาต์ โรคสำคัญของวัยเก๋า

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
09 ส.ค. 2566
-

โรคเกาต์ เป็นโรคที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของเรามาอย่างยาวนาน เมื่อ 2640 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอียิปต์ได้นิยามโรคชนิดหนึ่งซึ่งมีอาการอักเสบเฉียบพลันของข้อนิ้วหัวแม่เท้าว่า ‘โพดากร้า’ (Podagra) ต่อมาแพทย์ชาวกรีกนามว่าฮิปโปเครติส (Hippocrates) ได้เรียกโรคที่มีลักษณะเดียวกันนี้ว่า ‘โรคที่เดินไม่ได้’ (The Unwalkable Disease) ซึ่งอาการบ่งชี้ล้วนแล้วแต่ตรงกับโรคเกาต์ในปัจจุบัน

ในสมัยโบราณเกาต์ถูกเรียกได้ว่าเป็น โรคของพระราชา (The Disease of Kings) หรือ โรคข้ออักเสบของคนรวย (Arthritis of The Rich) เพราะเป็นโรคที่เกิดจากการกินอาหารและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิถีชีวิตของคนรวยเท่านั้น จึงเกิดกระแสให้ผู้ชายสมัยก่อนนิยมกินดื่มเพื่อให้ตนเองเป็นโรคเกาต์ขึ้นมา

โดยคำว่าเกาต์ (Gout) มาจากภาษาละตินคำว่า ‘Gutta’ ที่แปลว่า Drop หมายถึงการ ‘ไหลลงหรือหยดลง’ เปรียบเทียบว่าเสมหะ (Phelegm) ไหลลงไปสะสมในข้อ ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดและการอักเสบตามข้อต่าง ๆ ในร่างกาย

 

โรคเกาต์ คืออะไร

โรคเกาต์มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เกิดจากการสะสมของกรดยูริค (Uric acid) ตามข้อต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะข้อที่มีอุณหภูมิต่ำประมาณ 20 องศาเซลเซียส เช่น ข้อนิ้วมือ ข้อเท้านิ้วหัวแม่โป้งเท้า (Metatarsophalangeal Joint) ในบางคนอาจมีกรดยูริคในเลือดสูงแต่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเราเรียกลักษณะนี้ว่า Asymptomatic Gout และเมื่อมีอาการปวดเฉียบพลัน หรือภาวะ Acute Gout Attack จะมีอาการข้ออักเสบ (Arthritis) ปวด บวม แดง ร้อน โดยอาการปวดอาจยาวนานได้ 3 ถึง 10 วันเลยทีเดียว ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาและปล่อยให้มีอาการปวดติดต่อกันเรื่อย ๆ จะก่อให้เกิดโรคเกาต์เรื้อรัง (Chronic Gout) จนเกิดก้อนคลายตาต้นไม้หรือก้อนโทไฟ (Tophi) ซึ่งก้อนนี้จะเสียดสีก่อให้เกิดความเสียหายในข้อต่อของเรา

เมื่อระดับกรดยูริคในเลือดสูง ยูริคจะเกิดการตกตะกอนบริเวณข้อต่าง ๆ ชักนำให้เกิดการอักเสบและเกิดสาร C3a, C5a ซึ่งสามารถชักนำเซลล์เม็ดเลือดขาวเข้ามาบริเวณที่เกิดการอักเสบได้ ก่อให้เกิดสาร เช่น Interleukine-6 และ TNF-alpha ทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำลายข้อต่อ เส้นเอ็น และกระดูกอ่อน ตามมา

 

การวินิจฉัยโรคเกาต์
  1. การเจาะน้ำในข้อต่อ หรือก้อนโทไฟเพื่อตรวจหาผลึกกรดยูริค
  2. มีอาการปวดบวมแดงร้อนของข้อ
  3. ตรวจวัดระดับกรดยูริคในเลือด (ผู้ชายมีค่ามากกว่า 7 มก./ดล. และผู้หญิงมีค่ามากกว่า 6 มก./ดล.)

 

การรักษาทางยาโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทาง

ยาที่ใช้รักษาแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่

  1. ยากลุ่มลดการอักเสบของข้อต่อ ได้แก่ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่เสตียรอยด์ (NSAIDS) ยาโคลชิซีน (Colchicine) และยาลดการอักเสบรุนแรงโดยใช้เสตียรอยด์ (Corticosteroid) โดยใช้เพียงระยะสั้น
  2. ยากลุ่มป้องกันการโจมตีของเกาต์ ยาตัวสำคัญลดการสร้างกรดยูริค เช่น Allopurinol (Xanthine Oxidase Inhibitors) และยาเพิ่มการขับกรดยูริคทางไต (Probenecid) เป็นต้น

 

สาเหตุการเกิดโรคเกาต์
  • โรคอ้วน เมื่อร่างกายมีปริมาณไขมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลิตกรดยูริคเพิ่มขึ้น รวมถึงการกำจัดกรดยูริคทางไตลดลง
  • การกำจัดยูริคออกจากร่างกายได้ช้าหรือน้อยกว่าปกติ จากภาวะไตเสื่อม หรือการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ หรือยาแอสไพริน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ระดับกรดยูริคให้เลือดสูงขึ้น โดยงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 1-2 หน่วยบริโภคต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดข้ออักเสบ (Gout Attack) ได้ถึง 36% และโอกาสเพิ่มสูงขึ้นได้ถึง 51% เมื่อดื่ม 2-4 หน่วยบริโภคต่อวัน
  • การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์  อาหารทะเล หอยต่าง ๆ ปลาและเนื้อสัตว์บางชนิด หรือการรับประทานเนื้อสัตว์ในปริมาณมากเกินไป
  • เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุคโตส เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ สามารถเพิ่มระดับกรดยูริคในเลือดให้สูงขึ้น
  • โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ไทรอยด์ โรคมะเร็งหรือผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ซึ่งเกิดการทำลายของเซลล์ในร่างกาย
  • ความเครียด เพราะฮอร์โมนเครียดที่เพิ่มสูงขึ้นจะก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย และกระตุ้นให้เกิดโรคเกาต์
  • ประวัติทางพันธุกรรม เช่น เครือญาติมีประวัติโรคเกาต์ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการสร้างและขับออกของกรดยูริค ซึ่งในปัจจุบันงานวิจัยพบว่าสามารถตรวจโรคเกาต์ได้จากรหัสพันธุกรรม เช่น ยีน SLC2A9, ABCG2, FAM35A เป็นต้น

 

วิธีการลดระดับยูริคในเลือด
  • ดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสม รักษาระดับมวลไขมันในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยผู้ชายควรน้อยกว่า 28% และผู้หญิงน้อยกว่า 32%
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายขับกรดยูริคออกทางปัสสาวะ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มระดับกรดยูริค ได้แก่
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด โดยเฉพาะเบียร์
    • เครื่องในสัตว์ทุกชนิด เนื้อลูกวัว เนื้อกวาง ไก่ฟ้า ไก่งวง เบคอน
    • ปลาและอาหารทะเล ได้แก่ ปลาซาร์ดีน แอนโชวี่ แมคเคอเรล แฮร์ริ่ง ทูน่า แซลมอน เทราท์ หอยต่างๆ เป็นต้น
    • อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลฟรุคโตสสูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำผึ้ง
  • เลือกรับประทานเนื้อสัตว์ไขมันต่ำในปริมาณที่เหมาะสม เพราะการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มากเกินไป ส่งผลให้ระดับกรดยูริคในเลือดสูงได้
  • รับประทานผักผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรับประทานผักที่มีพิวรีนสูงไม่เพิ่มความเสี่ยงโรคเกาต์ และการรับประทานผักผลไม้ยังช่วยลดกระบวนการอักเสบในร่างกายได้อีกด้วย

 

แหล่งอ้างอิง
  • Nuki G, Simkin PA. A concise history of gout and hyperuricemia and their treatment. Arthritis research & therapy. 2006;8(1):1-5.
  • FitzGerald JD, Dalbeth N, Mikuls T, Brignardello-Petersen R, Guyatt G, Abeles AM, et al. 2020 American College of Rheumatology guideline for the management of gout. Arthritis care & research. 2020;72(6):744-60.
  • Choi HK, Atkinson K, Karlson EW, Curhan G. Obesity, weight change, hypertension, diuretic use, and risk of gout in men: the health professionals follow-up study. Archives of internal medicine. 2005;165(7):742-8
  • Choi HK, Atkinson K, Karlson EW, Willett W, Curhan G. Purine-rich foods, dairy and protein intake, and the risk of gout in men. New England Journal of Medicine. 2004;350(11):1093-103.
  • Neogi T, Chen C, Niu J, Chaisson C, Hunter DJ, Zhang Y. Alcohol quantity and type on risk of recurrent gout attacks: an internet-based case-crossover study. Am J Med. 2014;127(4):311-8.
Share:

Recommended Packages & Promotions

ตรวจสุขภาพเชิงป้องกัน Preventive Check Up คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved