กินอย่างไร ให้ปลอดภัยในช่วงหน้าร้อน
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจนอบอ้าวเป็นสภาวะที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ทำให้จุลินทรีย์เหล่านี้ขยายตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และหากปนเปื้อนอยู่ในอาหารก็จะทำให้อาหารบูดเสียง่าย เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ อหิวาตกโรค โรคบิด โรคไข้ไทฟอยด์ ฯลฯ ตามมา
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยดังกล่าว วันนี้ BDMS Wellness Clinic มีหลักการเพื่อดูแลอาหารให้ปลอดภัยในช่วงฤดูร้อนนี้มาฝาก
1. ล้างมือและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารให้สะอาด
หมั่นล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่และน้ำสะอาด ให้ครบทั้ง 7 ขั้นตอน เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที ทุกครั้ง ทั้งก่อนและหลังสัมผัสอาหาร รวมไปถึงทำความสะอาดอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหาร และพื้นที่ประกอบอาหารอยู่เสมอ
2. แยกระหว่างอาหารดิบและอาหารปรุงสุก
แยกอุปกรณ์ในครัว เช่น มีด เขียง ช้อนส้อม ที่คีบอาหาร เป็นกลุ่มเฉพาะที่ใช้สำหรับเนื้อสัตว์ดิบ และอาหารพร้อมรับประทาน ไม่ใช้ปะปนกัน
3. ระวังการปนเปื้อนข้ามชนิดอาหาร
จัดเก็บเนื้อสัตว์ดิบในช่องล่างสุดของตู้เย็นหรือช่องแช่เฉพาะ เพื่อไม่ให้น้ำจากอาหารกลุ่มนี้หยดปนเปื้อนลงไปในอาหารกลุ่มอื่น ๆ
4. รักษาอุณหภูมิของอาหารสดให้เย็นอยู่เสมอ
นำอาหารสดแช่ในตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากซื้อหรือเตรียมวัตถุดิบแล้ว อาจใช้น้ำแข็งหรือเจลเก็บความเย็น เพื่อรักษาอุณหภูมิในระหว่างการเดินทางหรืออยู่กลางแจ้ง
5. ละลายอาหารแช่แข็งอย่างปลอดภัย
ไม่ละลายอาหารแช่แข็งที่อุณหภูมิห้อง เพื่อไม่ให้แบคทีเรียเติบโตและเพิ่มจำนวนในช่วงอุณหภูมิ
4–60 องศาเซลเชียส แต่ควรเก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 1-4 องศาเซลเชียส หรือในน้ำเย็น เพื่อให้อาหารค่อย ๆ ละลายในช่วงอุณหภูมิที่ปลอดภัย
6. ประกอบอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง
ประกอบอาหารจนถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมกับอาหารประเภทนั้น ให้สุกทั่วถึงทั้งหมด โดยวัดอุณหภูมิจากส่วนที่หนาที่สุดของอาหาร เช่น
- เนื้อบด 72 องศาเซลเชียส
- เนื้อไก่ 74 องศาเซลเชียส
- ไข่ 72 องศาเซลเชียส
- เนื้อปลา 63 องศาเซลเชียส
- อาหารค้างเหลือ 74 องศาเซลเชียส
7. จัดเก็บอาหารหลังปรุงสุกให้ดี
นำอาหารเข้าตู้เย็นภายใน 2 ชั่วโมงหลังประกอบอาหาร หรือภายใน 1 ชั่วโมง หากอุณหภูมิมากกว่า 32 องศาเซลเชียส หรือสามารถแบ่งออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ความเย็นทั่วถึงมากขึ้น
ความปลอดภัยในอาหารเป็นสิ่งที่เราไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน หากสามารถปฏิบัติตามหลักการเบื้องต้นนี้ได้ เราจะสามารถรับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัย ถูกสุขอนามัย และไม่เกิดการเจ็บป่วยจากเชื้อจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์
เนื่องในวันอนามัยโลก (World Health Day) 7 เมษายนนี้ พวกเราขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพ ทั้งการควบคุม ป้องกัน และส่งเสริมด้านสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
Reference:
- U.S. Department of Agriculture (USDA). Food Safety and Inspection Service [Internet]. 2022 [cited 2024 Mar 8]. Available from https://www.fsis.usda.gov/
- สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ. คู่มือวิชาการสุขาภิบาลอาหาร สำหรับเจ้าหน้าที่ [e-book]. นนทบุรี: สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข; 2562 [เข้าถึงเมื่อ 8 มีนาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก: https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER42/DRAWER023/GENERAL/DATA0000/00000609.PDF