ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

5 สุดยอดวิตามินบำรุงผิว

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
14 ต.ค. 2565
-

ผิวเป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นวัตถุต่าง ๆ สารเคมี เชื้อโรค แสงแดด หรือแม้กระทั่งการสูญเสียน้ำ ด้วยหน้าที่นี้ ทำให้ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ได้รับความเสียหายจากปัจจัยต่าง ๆ มากที่สุด ส่งผลให้สัญญานความแก่ชราปรากฏขึ้นเป็นที่แรก

 

 

1. วิตามินซี

เป็นวิตามินที่สำคัญต่อสุขภาพผิว มีหน้าที่ช่วยให้โครงสร้างของคอลลาเจนมีความเสถียร ส่งเสริมการทำงานของยีนส์ที่สร้างคอลลาเจน กำจัดอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่เกิดจากมลพิษและแสงแดด และยับยั้งกระบวนการสร้างเมลานิน ลดรอยด่างดำ

จากงานวิจัยเกี่ยวกับวิตามินซีและสุขภาพผิว พบว่า การรับประทานวิตามินซีทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและในรูปแบบอาหาร สามารถช่วยเรื่องความยืดหยุ่น ลดรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า ความหยาบกร้านและสีผิว ช่วยส่งเสริมการหายของแผล ลดรอยแผลเป็น ลดการอักเสบที่ผิวหนัง ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งผิวหนัง โดยทำงานร่วมกับวิตามินอีในกระบวนการต้านอนุมูลอิสระ

การขาดวิตามินซีทำให้เป็นโรคลักปิดลักเปิด ผิวบาง (Skin Fragility) มีเลือดออกตามไรฟัน และแผลหายช้า ทั้งหมดเกิดจากการสังเคราะห์คอลลาเจนที่เปลี่ยนแปลงไปจากการขาดวิตามินซี

โดยปกติผิวจะมีความเข้มข้นของวิตามินซีสูงเมื่อเทียบกับเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในร่างกาย โดยพบในชั้นหนังกำพร้า (Epidermal Layer) มากกว่าชั้นหนังแท้ (Dermis) 2-5 เท่า วิตามินซีจะมีปริมาณลดลงในผิวที่แก่ชราและผิวที่ถูกทำลายจากแสง จึงอาจกล่าวได้ว่า ระดับของวิตามินซีในผิวเป็นสิ่งสะท้อนถึงการสัมผัสอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้น รวมถึงมลพิษและแสง UV

แหล่งของวิตามินซี คือ ผักและผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะขามเทศ เงาะ มะละกอ ส้มโอ พริกหวาน คะน้า บรอกโคลี เป็นต้น กรมอนามัยแนะนำให้ได้รับวิตามินซีต่อวันอยู่ที่ 100 มิลลิกรัมในผู้ชาย และ 85 มิลลิกรัมในผู้หญิง

 

2. วิตามินอี

มีความเข้มข้นในชั้นหนังกำพร้ามากกว่าชั้นหนังแท้ มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่นเดียวกับวิตามินซี และเป็นด่านแรกของการป้องกันการสร้างอนุมูลอิสระจากไขมัน (Lipid Peroxidation) ปกป้องเซลล์ไม่ให้ถูกทำลาย กระบวนการต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี ต้องอาศัยกระบวนการของสารอื่นร่วมด้วยอย่าง วิตามินซี ซีลีเนียม เป็นต้น 

ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของวิตามินอี ช่วยปกป้องผิวจากการแก่ชรา และช่วยในการรักษาสภาวะผิวต่าง ๆ เช่น ฝ้า รอยแผลเป็น และผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง หลายงานวิจัยรายงานว่า การรับประทานวิตามินอี 200-1200 IU ต่อวัน ช่วยให้อาการของโรคหนังแข็ง (Scleroderma) ดีขึ้นได้ โดยการลดกระบวนการทำลายเซลล์ตัวเองของภูมิคุ้มกัน ในบางการศึกษา วิตามินอีมีส่วนช่วยให้ฝ้าจางลงได้ จากการยับยั้งกระบวนการสร้างอนุมูลอิสระของไขมันที่เกิดขึ้นและเพิ่มปริมาณของกลูตาไทโอนภายในเซลล์ นอกจากนี้ วิตามินอีมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด สามารถยับยั้งการแข็งตัวของเกล็ดเลือดและโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบได้

ภาวะขาดวิตามินอีพบได้น้อย มักมีความสัมพันธ์กับโรคที่มีปัญหาในการย่อยและดูดซึมสารอาหาร

แหล่งของวิตามินอี คือ อาหารจำพวกเมล็ดพืช น้ำมันพืชต่าง ๆ เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วเหลือง เป็นต้น

 

3. วิตามินบี 3 หรือ Niacin

มีประโยชน์มากมายต่อผิว การทาวิตามินบี 3 ช่วยทำให้เกราะป้องกันของผิวมั่นคงมากขึ้น ลดการสูญเสียน้ำจากผิว และกระตุ้นการสังเคราะห์โปรตีนต่าง ๆ เช่น เคราติน เพิ่มการสังเคราะห์เซราไมด์ (Ceramide) ซึ่งเป็นไขมันที่พบได้ตามธรรมชาติบนผิว มีหน้าที่รักษาความชุ่มชื้นของผิว นอกจากนี้ วิตามินบี 3 ยังใช้ในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง มีผลในการลดสารอักเสบต่างๆ เช่น IL-1β, IL-6, IL-8, TNF จึงถูกใช้เพื่อรักษาสิว ผื่นกุหลาบ และภาวะอักเสบที่ผิวอื่น ๆ รวมถึงการรักษาสิวด้วย

การวิจัยที่ทดลองรักษาสิวอักเสบในผู้ป่วย 160 คน โดยใช้ 4% Nicotinamide gel เปรียบเทียบกับ 4% Erythromycin Gel 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลการวิจัยพบว่า ทั้งสองกลุ่มสามารถลดการอักเสบได้ แต่กลุ่มที่ใช้ Nicotinamide Gel ซึ่งมีส่วนผสมของวิตามินบี 3 ช่วยลดภาวะต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป (Seborrhea) ได้ดีกว่า 

วิตามินบี 3 มีบทบาทในการซ่อมแซมสายดีเอ็นเอที่ผิดปกติ ช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง การรับประทานวิตามินบี 3 จึงอาจมีบทบาทในการป้องกันมะเร็งผิวหนังได้ การวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินบี 3 เพื่อชะลอหรือลดการกลายพันธุ์ของเซลล์ที่จะกลายเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง พบว่ากลุ่มที่ได้รับวิตามินบี 3 พบเซลล์มะเร็งใหม่ ลดลง 23% หลังจากผ่านไป 12 เดือน เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม

อีกงานวิจัยแสดงให้เห็นผลของการทา 5% วิตามินบี3 ในผู้หญิง 50 คน ที่ใบหน้ามีสัญญานของความแก่ชราเนื่องจากแสงแดด การศึกษาแสดงให้เห็นว่า สามารถลดริ้วรอย จุดด่างดำ จุดแดง และยังช่วยเรื่องความยืดหยุ่นของผิวอีกด้วย

แหล่งอาหารของวิตามินบี 3 คือ ไข่ ปลา เนื้อสัตว์ต่าง ๆ ถั่วเมล็ดแห้ง รำข้าว และยีสต์ นอกจากได้รับจากอาหารแล้ว ร่างกายสามารถสร้างวิตามินบี 3 ได้จากกรดอะมิโนทริปโตเฟน (Tryptophan) แต่การสร้างวิตามินบี 3 จะเกิดปัญหาในผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 และวิตามินบี 6 

 

4. วิตามินดี

เป็นวิตามินละลายในไขมัน ลักษณะเหมือนฮอร์โมนสเตียรอยด์ มีความสำคัญในสมดุลแคลเซียมของร่างกาย วิตามินดีเป็นวิตามินที่ได้รับจากแสงแดด มีความสำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 

การทาวิตามินดีที่ผิวหนัง ช่วยยับยั้งการสร้างเซลล์ผิวหนังที่มากเกินไป ลดการหนาตัวของผิวหนังบริเวณที่เกิดโรค เช่น โรคสะเก็ดเงิน วิตามินดียังช่วยลดการอักเสบ การหายของแผล  ป้องกันผิวหนังจากการถูกทำลายจากแสงแดด ช่วยลดการตายของเซลล์จากแสงแดดได้ถึง 55-70%  และภาวะการขาดวิตามินดีส่งผลต่อความรุนแรงของโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง 

แหล่งของวิตามินดี ในอาหารตามธรรมชาติ เช่น เห็ด ปลาที่มีไขมันสูง ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาเทราท์ ปลาแมคเคอเรล รวมถึงอาหารเสริมสารอาหาร (Fortified Food) เช่น น้ำส้ม นมถั่วเหลือง โยเกิร์ต อาหารเช้าประเภทซีเรียล เป็นต้น

 

5. โคเอนไซม์คิวเทน (Coenzyme Q10)

เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ละลายในไขมัน สำคัญในกระบวนการสร้างพลังงานในเซลล์ ความเครียดจากสิ่งต่าง ๆ จากอายุที่เพิ่มขึ้น การสัมผัสแสงแดด จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อซ่อมแซมความเสียหายส่งผลให้ระดับของโคเอนไซม์คิวเทนลดลง หากการสร้างพลังงานในเซลล์ผิวไม่เพียงพอ โครงสร้างของผิวจะเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีสัญญาณของความแก่ชราปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นริ้วรอยหรือการสูญเสียความยืดหยุ่นของผิวหนัง

การวิจัยในผู้หญิง 73 คน ที่ไม่สูบบุหรี่ ได้ทำการประเมินประสิทธิภาพของสูตรครีมและเซรั่ม ซึ่งมีส่วนประกอบของโคเอนไซม์คิวเทน ผลการศึกษาพบว่า การทาโคเอนไซม์คิวเทนสามารถซึมเข้าสู่ผิวได้โดยตรง และมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาระดับพลังงานของเซลล์ไว้ได้ 

แหล่งอาหารที่มีโคเอนไซม์คิวเทน ได้แก่ ปลาที่มีไขมันสูง เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า และธัญพืชไม่ขัดสี 

 

Sources
  1. Dattola A, Silvestri M, Bennardo L, Passante M, Scali E, Patruno C et al. Role of Vitamins in Skin Health: a Systematic Review. Current Nutrition Reports. 2020;9(3):226-235.
  2. Pullar J, Carr A, Vissers M. The Roles of Vitamin C in Skin Health. Nutrients. 2017;9(8):866.
  3. Reichrath J. Vitamin D and the skin: an ancient friend, revisited. Experimental Dermatology. 2007;16(7):618-625.
  4. Saini R. Coenzyme Q10: The essential nutrient. Journal of Pharmacy and Bioallied Sciences. 2011;3(3):466.
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved