8 แนวทางเสริมเกราะใยเหล็กเพื่อสุขภาพไตดีของทุกคน

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
14 มี.ค. 2567
-
#
 
วันไตโลก 14 มีนาคม 2567

 

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease, CKD) เป็นภาวะที่หน่วยไตค่อย ๆ สูญเสียความสามารถในการกรองของเสียจนมีอาการไตวายหรือสูญเสียการทำงานไปอย่างถาวร

ทั่วโลกมีผู้ที่กำลังเผชิญกับโรคไตเรื้อรังมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด หรือมากกว่า 800 ล้านคน โดยข้อมูลจาก The Global Burden of Disease Study (GBD) พบว่า โรคไตเรื้อรังติดอันดับ 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น ข้อมูลในปี พ.ศ. 2562 ได้รายงานถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังกว่า 16,000 ราย

ในการเสริมสร้างการดูแลสุขภาพ เพื่อชะลอความเสื่อมของไตจึงมีคำแนะนำ ดังนี้

  1. ดื่มน้ำ 6-8 แก้วต่อวัน อย่าปล่อยให้ไตขาดน้ำ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว 
  2. รับประทานอาหารที่ดีต่อไต เพิ่มผักผลไม้หลากสีหลากชนิด หลีกเลี่ยงการเติมเครื่องปรุงหรือบริโภคอาหารแปรรูป
  3. ติดตามระดับความดันโลหิตอย่างต่อเนื่อง หากสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอทควรไปพบแพทย์
  4. ดูแลระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน
  5. เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  6. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ตามเกณฑ์
  7. เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อติดตามระดับการทำงานของไต
  8. งดใช้ยาแก้ปวด ยาบรรเทาการอักเสบที่ไม่ใช่ Steroid (NSAIDs) หรือสมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลานาน

โรคไตเรื้อรังจัดเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก มีผู้ที่กำลังทุกข์ทรมานกับโรคนี้จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องในวันไตโลก (World Kidney Day) 14 มีนาคมนี้ พวกเราขอส่งมอบความห่วงใยให้ทุกท่านเห็นความสำคัญกับสุขภาพไตและเข้าถึงการดูแลเชิงป้องกันอย่างทั่วถึง

Reference
  1. สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ แผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย. การสูญเสียปีภาวะ Disability-Adjusted Life Years: DALYS รายงานการศึกษาภาระโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2562. นนทบุรี: บริษัท แฮนดี เพรส จํากัด; 2566.
  2. Kovesdy CP. Epidemiology of chronic kidney disease: an update 2022. Kidney Int Suppl (2011). 2022;12(1):7-11.
  3. The Global Burden of Diseases 2019, Diseases and Injuries Collaborators. Global burden of 369 diseases and injuries in 204 countries and territories, 1990-2019: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2019 [published correction appears in Lancet. 2020 Nov 14;396(10262):1562]. Lancet. 2020;396(10258):1204-22.
  4. Negoianu D., Goldfarb S. Just add water. J Am Soc Nephrol. 2008;19(6):1041-43.
  5. Chen TK, Knicely DH, Grams ME. Chronic Kidney Disease Diagnosis and Management: 
  6. A Review. JAMA. 2019;322(13):1294-1304. 

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved