ชานมไข่มุก เครื่องดื่มเพื่อ(เสีย)สุขภาพ
ชานมไข่มุก เครื่องดื่มที่ยังคงได้รับความนิยม และถูกคิดค้นออกมาเป็นเมนูต่าง ๆ เพื่อการจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลายมากขึ้น จากการสำรวจ “การบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพของคนไทย” ในรายงานสุขภาพของคนไทย ปีพ.ศ. 2566 พบว่า คนไทยบริโภคเครื่องดื่มชงที่มีรสหวานถึง 26.3% โดยเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงมากกว่ากลุ่มรายได้น้อยอย่างเห็นได้ชัด
แม้ว่าเครื่องดื่มนี้จะมีรสชาติหวานหอมและเนื้อสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนมากมาย แต่พฤติกรรมการบริโภคดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพที่ผู้บริโภคควรต้องรับรู้และระวัง
ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม เสี่ยงอ้วน
ชานมไข่มุกส่วนใหญ่มีการเติมน้ำตาล น้ำเชื่อม ครีมเทียม นมผง ทำให้ได้พลังงานมากกว่าเครื่องดื่มชาทั่วไป นอกจากนี้ยังมีไข่มุก พระเอกของเครื่องดื่มนี้ที่ทำมาจากแป้งมันสำปะหลัง เมื่อพอรวมกันแล้วจะให้พลังงานที่มากขึ้น โดยพลังงานต่อ 1 แก้วนั้นเทียบเท่ากับการรับประทานอาหาร 1 จานได้เลยทีเดียว ซึ่งนั่นจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคอ้วนได้
เพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำตาลได้อย่างไม่น่าเชื่อ โดย 1 แก้วขนาด 16 ออนซ์ อาจมีน้ำตาลสูงมากถึง 38 กรัม ซึ่งการบริโภคน้ำตาลมากเกินความจำเป็นนั้น อาจส่งผลให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างเช่น โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ ฯลฯ ตามมาได้
รบกวนการนอนหลับ
การได้รับน้ำตาลต่อวันในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับได้เช่นกัน ตัวอย่างการศึกษาหนึ่ง พบว่า กลุ่มที่รับประทานอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูงมีคุณภาพการนอนหลับที่แย่ลง ทั้งใช้เวลาเพื่อเข้านอนนานขึ้น และชั่วโมงนอนหลับก็ลดลง ซึ่งหากเราพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อสุขภาพและกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้
ปัจจุบันเครื่องดื่มชานมไข่มุก สามารถเข้าถึงผู้คนในหลากหลายวัยและกลุ่มคนมากขึ้น ผสมผสานกับการโฆษณา และราคาที่จับต้องได้มาก จนเราละเลยต่อสุขภาพไป
เนื่องในวันชานมไข่มุกแห่งชาติ 30 เมษายนนี้ พวกเราขอส่งมอบความห่วงใย สร้างการตระหนักรู้ และดูแลสุขภาพในเรื่องอาหารและพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย
รายการอ้างอิง
- สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. สุขภาพคนไทย 2566 : คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP: Conference of Parties) กับการรับมือ “โลกรวน”. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, 2566. 136 หน้า.
- Min JE, Green DB, Kim L. Calories and sugars in boba milk tea: implications for obesity risk in Asian Pacific Islanders. Food Sci Nutr. 2017 Jan 1;5(1):38–45.
- St-Onge MP, Roberts A, Shechter A, Choudhury AR. Fiber and Saturated Fat Are Associated with Sleep Arousals and Slow Wave Sleep. J Clin Sleep Med. 2016;12(1):19-24.