ระวัง "มะเร็ง" ถามหา ถ้าเข้าข่าย "โรคอ้วน"

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
08 ส.ค. 2567
-

 

มหันตภัยร้ายโรคอ้วน เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็ง

 

โรคอ้วน เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้คนทั่วโลก ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มความเสี่ยงโรคหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) ปัญหาข้อต่อ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โรคเบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงมะเร็ง 13 ชนิด เช่น มะเร็งมดลูก 7 เท่า, มะเร็งหลอดอาหาร 4.8 เท่า, มะเร็งตับ 2 เท่า และมะเร็งลำไส้ 1.3 เท่า เป็นต้น รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งอีกด้วย

ข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 จากสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federation) ผู้คนราว 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 คน กำลังเผชิญกับปัญหาโรคอ้วน สอดคล้องกับรายงาน World Health Statistics 2023 ขององค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ใหญ่ 1.9 พันล้านคน หรือคิดเป็น 39% มีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี พ.ศ. 2566 คนไทยมีปัญหาน้ำหนักเกินและอ้วน 48.35% และตัวเลขเหล่านี้ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

คุณหมอแอมป์ นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก และนายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO) และ ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ อยากรณรงค์ให้สังคมตระหนักเห็นภัยร้ายของโรคอ้วน และหยุดการเพิ่มขึ้นของวิกฤตโรคอ้วน เพื่อเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็ง

เพราะแม้ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งจะมีหลายอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการได้รับสารพิษหรือมลภาวะต่าง ๆ แต่การรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญ ที่จะช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ 


อะไรคือภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน

ทางด้านคุณหมอแอมป์ ได้อธิบายนิยามของโรคอ้วนให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ถูกคัดกรองด้วยการใช้ดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) โดยชาวเอเชียที่มีน้ำหนักเกินจะมี BMI ตั้งแต่ 23 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป และคนอ้วนจะมี BMI ตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป แต่แท้จริงแล้ว BMI อาจไม่ใช่เครื่องมือที่แม่นยำมากนัก ในการประเมินภาวะอ้วน เพราะไม่สามารถประเมินองค์ประกอบของร่างกายได้ เช่น บุคคลที่มี BMI เท่ากัน อาจมีสัดส่วนกล้ามเนื้อและไขมันไม่เท่ากัน เช่น นักเพาะกายมีกล้ามเนื้อมากกว่าคนที่ขาดการออกกำลังกาย จึงไม่แนะนำให้ใช้ BMI ในการวินิจฉัยเพียงอย่างเดียว

คุณหมอแอมป์แนะนำว่า ควรใช้เครื่องมืออื่นประกอบด้วย เช่น การวัดเส้นรอบเอว เพราะสามารถบ่งบอกมวลไขมันที่สะสม บริเวณในช่องท้อง (Visceral fat) โดยเส้นรอบเอวในผู้ใหญ่เพศชายชาวเอเชียไม่ควรเกิน 90 เซนติเมตร (36 นิ้ว) และผู้ใหญ่เพศหญิงชาวเอเชียไม่ควรเกิน 80 เซนติเมตร (32 นิ้ว)

แต่ทางที่ดีที่สุดคุณหมอแอมป์แนะนำว่า การวัดองค์ประกอบร่างกาย ด้วยเครื่อง DEXA (Dual-Energy X-ray Absorptiometry) เพื่อประเมินสัดส่วนไขมันทั้งหมดของร่างกาย เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุดในการประเมินโรคอ้วน โดย American Council On Exercise (ACE) แนะนำว่า ในกลุ่มวัยกลางคนชาวเอเชีย (อายุ 20–50 ปี) ผู้หญิงไม่ควรมีสัดส่วนไขมันเกิน 32% และผู้ชายไม่ควรเกิน 25%


โรคอ้วนทำให้เกิดมะเร็งมากน้อยเพียงใด

นายแพทย์ธีรวุฒิ เริ่มต้นเล่าว่า ทั่วโลกพบโรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง 3.9% คิดเป็น 544,300 ราย ซึ่งพบผู้ป่วยมะเร็งในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย (เพศหญิง 368,500 ราย เพศชาย 175,800 ราย) อีกทั้งในประเทศที่มีรายได้สูง โรคอ้วนเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง ประมาณ 8% เมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้น้อยที่พบเพียง 1% เท่านั้น

โรคอ้วนยังมีผลต่อการรักษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งแล้ว ผู้ป่วยมะเร็งที่มีภาวะอ้วนมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่อ้วน 17% และผลแทรกซ้อนจากการรักษาก็มากขึ้นด้วย รวมถึงโอกาสที่มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำ สูงขึ้น 13% โดยเฉพาะในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่


โรคอ้วนก่อให้เกิดมะเร็งได้อย่างไร

เพื่อให้เข้าใจความเกี่ยวข้องของการเกิดมะเร็งกับโรคอ้วน นายแพทย์ธีรวุฒิ อธิบายกลไกเกี่ยวกับโรคอ้วนต่อความเสี่ยงของการเกิดมะเร็ง ดังต่อไปนี้ว่า

  • เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose Tissue) ทำหน้าที่ปล่อยสารเคมีและเอนไซม์ออกมาเป็นฮอร์โมนเพศชายและหญิง (Estradiol และ Androgen) การที่มีการสร้างฮอร์โมนมากเกินไปกว่าฮอร์โมนเดิม เช่น เอสโตรเจนมีความสัมพันธ์กับการเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งอื่น ๆ
  • โรคอ้วนทำให้เกิดภาวะอินซูลินสูง (Hyperinsulinemia) และสาร Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) สูงขึ้นผิดปกติ และคนอ้วนมักมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin-resistance) จึงเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานและมะเร็ง โดยพบว่าการที่มี IGF-1 สูงในเลือด จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ มะเร็งไต และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเพิ่มขึ้น
  • เนื้อเยื่อไขมัน (Adipose Tissue) จะปล่อยสารเคมี ชื่อว่าอดิโพไคน์ (Adipokine) มาหลายชนิด เช่น สารเลปติน (Leptin) ทำให้เกิดการอักเสบ และเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ ยับยั้งการตายโดยธรรมชาติอย่างเป็นระบบของเซลล์ (Apoptosis) แต่ในขณะเดียวกันโรคอ้วนกลับทำให้สาร อะดิโพเนคติน (Adiponectin) ซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการขยายตัวของเซลล์กลับลดน้อยลง ดังนั้นเซลล์จึงมีการเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
  • เนื้อเยื่อไขมันยังเป็นตัวการทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสารที่เกิดจากการอักเสบเรื้อรัง เช่น IL-6, TNF-Alpha, CRP ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งในท่อน้ำดี มะเร็งตับ และมะเร็งอื่น ๆ นอกจากนี้ สารอดิโพไคน์ยังทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมะเร็งอ่อนแอลง และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของเนื้อเยื่อที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ง่าย โดยสรุป โรคอ้วนจึงทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้น

คุณหมอแอมป์เสริมว่า การหลั่งฮอร์โมนไขมันที่ผิดปกติส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยลดประสิทธิภาพการทำงานเซลล์เพชฌฆาต หรือ NK-cell (Natural Killer cell) เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งซึ่งช่วยค้นหาและทำลายเซลล์มะเร็ง และความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งนั้นจะเพิ่มสูงขึ้นตามน้ำหนักตัว และระยะเวลาที่บุคคลนั้นเป็นโรคอ้วน


พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพเป็นสาเหตุให้ความเสี่ยงมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น

การบริโภคพลังงานมากเกินกว่าความต้องการของร่างกายเป็นระยะเวลานาน เป็นสาเหตุของโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อื่น ๆ และไม่เพียงพลังงานส่วนเกินเท่านั้นที่เป็นสาเหตุของปัญหา แต่อาหารบางชนิดมีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่สอง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง

ข้อมูลจาก The International Agency for Research on Cancer (IARC) หรือแผนกวิจัยเรื่องโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดให้ เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed Meat) คือเนื้อสัตว์ทุกประเภทที่ได้รับการเก็บรักษาโดยการรมควัน การหมักเกลือ การบ่ม หรือการบรรจุกระป๋อง เช่น ไส้กรอก ซาลามี่ แฮม เบคอน กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (กลุ่มที่ 1) โดยมีหลักฐานที่เพียงพอในมนุษย์ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์แปรรูปทำให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และกระเพาะอาหาร  และจัดให้ เนื้อแดง (Red Meat) ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อแกะ เนื้อหมู อยู่ที่กลุ่ม 2A มีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์

ผู้ร้าย คือ สารกันเสีย ‘ไนเตรท’ หรือ ‘ไนไตรท์’ ซึ่งถูกเติมลงไปในขั้นตอนแปรรููปเนื้อสัตว์ เพื่อถนอมอาหาร ปรุงแต่งสีและรสชาติ แต่สารนี้กลายเป็นสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ภายในร่างกายเกิดเป็น สารไนโตรซามีน (Nitrosamines) เป็นกลุ่มของสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (N-nitroso-compounds; NOCs) อีกทั้ง สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons; PAHs) ที่เกิดระหว่างกระบวนการแปรรูป และการปรุงอาหารโดยการอบ ปิ้ง ย่าง เป็นต้น

ในเนื้อแดงเองมีสารสีแดงในเม็ดเลือดแดง หรือ ฮีม (Heme Iron) ซึ่งสามารถเร่งการสร้างสารก่อมะเร็งอย่างสารประกอบเอ็นไนโตรโซ (NOCs) ได้เช่นกัน รวมทั้งการประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง เช่น การทอด การปิ้งย่าง ในอาหารประเภทเนื้อสเต็ก เบอร์เกอร์ หมูกระทะ สามารถทำให้เกิดสารก่อมะเร็งจำพวก เฮเทอโรไซคลิกแอโรแมติกเอมีน (Heterocyclic Aromatic Amines; HAA) และ สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) ได้เช่นกัน ซึ่งพบว่าสารเหล่านี้สามารถทำลายเซลล์ผนังลำไส้ได้

มีข้อมูลชี้ให้เห็นว่า การรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปวันละ 50 กรัม หรือเพียงแค่ 3 ช้อนกินข้าว เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึง 18 % และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดเบาหวานประเภทที่ 2 ได้สูงถึง 51%

นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปในปริมาณที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอ้วน เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป ถูกจัดเป็นเนื้อสัตว์พลังงานสูง มีคอเลสเตอรอล และไขมันอิ่มตัวปริมาณมาก รวมถึงวิธีปรุงประกอบเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป มักใช้น้ำมัน เนย น้ำตาล หรือรับประทานคู่กับคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ผู้ที่บริโภคเนื้อแดงและเนื้อแปรรูปมีแนวโน้มรับประทานอาหารพลังงานสูง และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น


หมอแอมป์แนะนำให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคู่กับการออกกำลังกาย

พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อดูแลน้ำหนักตัวให้เหมาะสมและลดความเสี่ยงมะเร็งจะมีหลายอย่างด้วยกัน คุณหมอแอมป์แนะนำว่า การเริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความเสี่ยงโรคอ้วน และป้องกันการเกิดมะเร็งได้

เริ่มต้นจากอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

เพื่อลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง คุณหมอแอมป์แนะนำให้ลดการบริโภคเนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปให้น้อยที่สุด และเลือกรับประทานโปรตีนจากพืช เช่น กลุ่มถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเหลือง ถั่วลันเตา ถั่วลูกไก่) เต้าหู้ขาว เทมเป้ และโปรตีนเนื้อขาวไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดหนัง ไข่ขาว เป็นต้น แต่สิ่งสำคัญคือการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เห็ดต่าง ๆ และเลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด

คุณหมอแอมป์แนะนำแนวทาง การรับประทานอาหารแบบ Plant-based diet ซึ่งเน้นการรับประทานอาหารจากพืชที่ไม่ผ่านการแปรรูป (Whole food, plant-based diet) ซึ่งเคร่งครัดน้อยกว่าการรับประทานมังสวิรัติและไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพด้วยการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก 

มีงานวิจัยมากมายชี้ให้เห็นว่าการรับประทาน Plant-based diet ไม่เพียงแต่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง แต่ยังลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ (NCDs) ด้วย ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานประเภทที่สอง เป็นต้น

การลดปริมาณไขมันจากเนื้อสัตว์ ยังช่วยให้การรักษาน้ำหนักตัวทำได้ดีขึ้น และการรับประทานใยอาหารที่เพิ่มขึ้น ทำให้รู้สึกอิ่มท้องยาวนาน มีการศึกษาในผู้สูงอายุ 9,633 คน ตีพิมพ์ในวารสาร Epidemiology ปี ค.ศ. 2019  โดยจัดทำเป็นคะแนนการบริโภคพืชผัก รายงานว่าผู้สูงอายุที่มีคะแนนการบริโภคพืชผักเพิ่มขึ้น ทุก 10 คะแนน จะมีรอบเอวลดลง 2 เซนติเมตร และมีไขมันลดลง 1.1 % 


การออกกำลังกายช่วยลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งหลายชนิด เช่น ช่วยควบคุมฮอร์โมนที่มีส่วนในการเกิดมะเร็ง ส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เร่งการเคลื่อนผ่านของอาหารในลำไส้ จึงสามารถลดการสัมผัสต่อสารก่อมะเร็งในทางเดินอาหาร และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวและป้องกันโรคอ้วน

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ PLoS One ในปี ค.ศ. 2018 แสดงให้เห็นถึงผลดีของการออกกำลังกาย แบบแอโรบิค (Aerobic Exercise) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ช่วยลดเซลล์มะเร็งในกระแสเลือดของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 1-3 ซึ่งการพบเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด แสดงถึงความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และความเสี่ยงของการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ Journal of Clinical Oncology ปี ค.ศ. 2006 รายงานว่า ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 3 ที่มีกิจกรรมทางกายดี ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำได้ถึง 40% และลดการเสียชีวิตได้ 63%

การดูแลตัวเองให้ห่างไกลจากโรคมะเร็ง ต้องอาศัยการดูแลสุขภาพองค์รวม ทั้งเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การนอนหลับอย่างมีคุณภาพ และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลพิษ ด้วยการใช้ชีวิตประจำวันที่ดีต่อสุขภาพ (Healthy Lifestyle) “เพราะสุขภาพดีคือสมบัติที่สำคัญที่สุด”

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved