รู้จักสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง พร้อมวิธีป้องกันมะเร็งที่ควรรู้
รู้ทันสาเหตุและวิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเผชิญ ไม่ว่ากับตัวเองหรือคนในครอบครัว โรคนี้คร่าชีวิตผู้คนมากมายทั่วโลก บทความนี้จึงขอพาทุกท่านไปรู้จักกับ สาเหตุของโรคมะเร็ง และวิธีป้องกันมะเร็งเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรค ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคร้ายนี้
มะเร็ง โรคร้ายที่เข้าใจไม่ยาก
มะเร็ง (Cancer) คือ กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในร่างกาย เซลล์เหล่านี้จะเจริญเติบโตและแบ่งตัวเร็วเกินปกติ และแพร่กระจายแบบควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อร้ายหรือเนื้องอกร้าย ที่ลุกลามผ่านทางระบบเลือดหรือระบบทางเดินน้ำเหลืองไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย
รู้จัก 10 อันดับโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย
ในปัจจุบัน โรคมะเร็งมีอยู่หลายชนิด สามารถเกิดได้ทุกอวัยวะ เช่น ปอด ตับ เต้านม ซึ่งสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งแต่ละที่ก็มีความแตกต่างกันไป โดยโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยมีดังนี้
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งลำไส้
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งตับ
- มะเร็งกระเพาะอาหาร
- มะเร็งต่อมลูกหมาก
- มะเร็งท่อน้ำดี
- มะเร็งผิวหนัง
- มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง
มะเร็ง เป็นโรคร้ายที่แพทย์ยังไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งที่แน่ชัดได้ อาจเกิดได้จากสาเหตุเดียวหรือมาจากหลากหลายสาเหตุก็ได้ ดังนั้น การตระหนักถึงปัจจัยการเกิดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคได้ โดยสามารถจำแนกปัจจัยการเกิดโรคมะเร็งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
- ปัจจัยภายนอก
- ได้รับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเซลล์ ทำให้เซลล์เจริญเติบโตและแบ่งตัวผิดปกติ และกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ สามารถพบได้ในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น บุหรี่ สารเคมี รังสี
- การได้รับรังสีที่เป็นพลังงานสูง สามารถกระตุ้นเซลล์มะเร็งได้ เช่น รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ในแสงแดด
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสเอชพีวี (HPV) ไวรัสตับอักเสบบีและซี (Hepatitis B & C Virus) สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้
- การติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น แบคทีเรีย Helicobacter pylori ที่สามารถทำให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การกินอาหารไขมันสูง อาจเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร
- ปัจจัยภายใน
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของยีนหรือโครโมโซม สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม หากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เซลล์มะเร็งอาจเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้โดยไม่ถูกทำลาย
- ภาวะทุพโภชนาการ ร่างกายขาดสารอาหารบางชนิด หรือได้รับอาหารที่ไม่ครบถ้วน เช่น วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี และโฟเลต อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
การสังเกตอาการโรคมะเร็งด้วยตัวเอง
อาการของโรคมะเร็งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และตำแหน่งของเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไป
ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยมักไม่มีอาการแสดงชัดเจน อาจรู้สึกอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง ผอมซูบ น้ำหนักลด แต่เมื่อโรคลุกลาม อาการจะเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มะเร็งแพร่กระจายไป
ตัวอย่างอาการที่พบบ่อย มีดังนี้
- ก้อนเนื้อ
- เลือดออกหรือมีเลือดปน ในน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ หรืออุจจาระ
- อาการปวดที่รุนแรงหรือเรื้อรัง ที่ศีรษะ ท้อง หรือหลัง
- อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
- ชาหรืออ่อนแรงตามมือ แขน ขา
- มองเห็นไม่ชัด
- ไฝ หูด หรือปานในร่างกายตามส่วนต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น ใหญ่ขึ้น หรือสีเปลี่ยน
- อื่น ๆ เช่น ไข้เรื้อรัง เสียงเริ่มแหบ เหงื่อออกตอนกลางคืน
การสังเกตอาการด้วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ควรตื่นตระหนก ซึ่งหากพบอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีป้องกันโรคมะเร็ง
การลดความเสี่ยงโรคมะเร็งเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้ดีมากขึ้น โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- งดสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา เป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญที่สุด เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ
- เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย โดยเฉพาะผักจำพวกบรอกโคลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว ผลเบอร์รี ถั่วแดง และถั่วเขียว ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย เช่น สารจำพวก ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซิน ที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง
- นอนหลับให้สนิทและพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่มีคุณสมบัติในการต่อสู้กับมะเร็งได้
- ตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
- ตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเป็นประจำ เมื่อสังเกตเห็นอาการผิดปกติของร่างกาย
มาดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้ห่างไกลโรคมะเร็ง ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเข้ารับการตรวจร่างกายเพื่อหาแนวโน้มการเกิดโรคและการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ที่ BDMS Wellness Clinic มีบริการตรวจสุขภาพเชิงลึกถึงระดับเซลล์ เพื่อหาความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสการรักษาให้หายได้ เราพร้อมให้บริการคุณ โดยการรวบรวมแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญจากทั่วโลก และเทคโนโลยีในการปฏิบัติงานทางการแพทย์ที่ทันสมัย
สนใจนัดหมายแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพและวางแผนการรักษาได้เลย ที่เบอร์ 02-826-9999
หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic