สำรวจสัญญาณเตือน ! ร่างกายขาดวิตามิน มีอาการอย่างไร ?

Prevention and Wellness Clinic
Prevention and Wellness Clinic
-
04 Dec 2024
-

รู้จักร่างกายขาดวิตามิน มีอาการและแนวทางป้องกันอย่างไร ?

  

ร่างกายขาดวิตามิน ทำให้เกิดอาการต่อระบบร่างกาย  

  

ในยุคปัจจุบันที่การใช้ชีวิตประจำวันเต็มไปด้วยความรีบเร่ง ทำให้หลายคนละเลยการดูแลสุขภาพไป เพราะไม่มีเวลาใส่ใจกับการเลือกทาน หรือร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้ร่างกายส่งสัญญาณเตือนที่นำไปสู่ภาวะร่างกายขาดวิตามินโดยไม่รู้ตัว

ประโยชน์ของวิตามินที่มีต่อระบบร่างกาย

แม้ร่างกายของเราต้องการวิตามินในปริมาณเพียงเล็กน้อย แต่วิตามินกลับมีประโยชน์และบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนี้

เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน

ด่านแรกของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค ก็คือระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งมีวิตามินหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการเสริมภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ตัวอย่างเช่น

  • วิตามินเอ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว เสริมสร้างเยื่อบุผิว ป้องกันการติดเชื้อ
  • วิตามินซี กระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
  • วิตามินดี ช่วยควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เสริมสร้างกระดูก
  • วิตามินบี 6 ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาว เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงสามารถช่วยป้องกันโรคหัวใจ

บำรุงกระดูกและฟัน

วิตามินดี แคลเซียม และฟอสฟอรัส เป็นแร่ธาตุสำคัญที่ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง ซึ่งวิตามินดีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสได้ดียิ่งขึ้น ป้องกันโรคกระดูกพรุน ฟันผุ รวมถึงป้องกันการเกิดโรคกระดูกอื่น ๆ 

รักษาสุขภาพผิว

นอกจากระบบภายในแล้ว วิตามินยังมีประโยชน์ในการช่วยดูแลผิวหนัง ซึ่งเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมภายนอกเป็นประจำ ซึ่งมีวิตามินหลายชนิดที่มีบทบาทสำคัญในการบำรุงผิวให้เปล่งปลั่ง ชุ่มชื้น และสุขภาพดี เช่น

  • วิตามินเอ ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ ลดเลือนริ้วรอย ชะลอวัย
  • วิตามินซี ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนังยืดหยุ่น ป้องกันผิวจากรังสียูวี
  • วิตามินบี 3 ช่วยลดเลือนรอยแดง รอยดำ ปรับสีผิวให้สม่ำเสมอ

บำรุงระบบประสาท

ระบบประสาทเปรียบเสมือนระบบควบคุมการทำงานของร่างกาย วิตามินมีบทบาทสำคัญในการบำรุงระบบประสาทให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวิตามินบีรวม ซึ่งจะช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง

ส่งเสริมพัฒนาการและการเจริญเติบโต

 วิตามินหลายชนิดมีความจำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะวิตามินเอ วิตามินดี และโฟเลต ซึ่งจะช่วยพัฒนาสมอง กระดูก สายตา รวมถึงระบบในร่างกาย ให้เด็กมีพัฒนาการที่เติบโตแข็งแรง

หากร่างกายขาดวิตามินจะมีอาการอย่างไร ?

การขาดวิตามิน แม้เพียงเล็กน้อย สามารถส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมได้อย่างมาก โดยมีสัญญาณเตือนเมื่อร่างกายขาดวิตามิน 5 ชนิดสำคัญ ดังนี้

วิตามินเอ

การขาดวิตามินเอ จะทำให้ตาแห้ง แสบตา มองเห็นในเวลากลางคืนลำบาก ผิวแห้งแตก ลอกเป็นขุย เส้นผมเปราะบาง ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งวิตามินเอมีแหล่งที่มาจากน้ำมันตับปลา ตับ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม ผลไม้สีเหลืองส้ม

วิตามินบี

เมื่อร่างกายขาดวิตามินบี จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ชาตามปลายมือปลายเท้า ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง ปัญหาทางระบบประสาท เช่น ความจำเสื่อม อารมณ์แปรปรวน โดยสามารถเสริมให้ร่างกายได้รับวิตามินบีจากการทานเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่ว ธัญพืช ผักใบเขียว

วิตามินซี

เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักวิตามินซี ซึ่งการสูญเสียหรือขาดวิตามินซี จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เหงือกบวม เลือดออกง่าย แผลหายช้า ผิวแห้งกร้าน ผมร่วง โดยสามารถเสริมวิตามินซีได้จากผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง กะหล่ำปลี มะเขือเทศ พริกหวาน 

วิตามินดี

วิตามินดีมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน อีกทั้งยังช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี การขาดวิตามินดี จึงทำให้กระดูกพรุน เปราะบาง ปวดกระดูก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ โดยร่างกายสามารถได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ไข่แดง เห็ด

วิตามินอี

ผิวแห้ง แตก ลอกง่าย ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นปัญหาที่เกิดจากร่างกายขาดวิตามินอี ซึ่งสามารถเสริมให้ร่างกายได้รับวิตามินชนิดนี้จากน้ำมันมะกอก อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน อะโวคาโด

  

อาหารที่ควรรับประทานเมื่อร่างกายขาดวิตามิน  

วิธีเติมวิตามิน เสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง

การได้รับวิตามินอย่างเพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง มีสุขภาพดี พร้อมเผชิญกับทุกสถานการณ์ โดยมีวิธีเติมวิตามินให้ร่างกายแข็งแรง ผ่าน 4 แนวทางหลัก ดังนี้

รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่

การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือแหล่งวิตามินชั้นดีที่ร่างกายต้องการ โดยควรเลือกอาหารหลากหลายชนิด ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต จากข้าวกล้อง ธัญพืช ผักผลไม้
  • โปรตีน จากเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง
  • ไขมันดี จากปลา น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่ว
  • วิตามินและแร่ธาตุ เช่น ผักผลไม้หลากสี
  • น้ำ โดยดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้ร่างกายดูดซึมวิตามินได้ดียิ่งขึ้น โดยแนะนำให้ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หรือออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อ 2 วันต่อสัปดาห์

หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

สารพิษจากบุหรี่และแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย โดยการสูบบุหรี่จะทำลายวิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 12 และการดื่มแอลกอฮอล์ จะไปรบกวนการดูดซึมวิตามินบี 1 วิตามินซี รวมถึงแมกนีเซียม

รับประทานอาหารเสริมวิตามิน

ในบางกรณี ร่างกายอาจต้องการวิตามินเสริม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนรับประทานวิตามินเสริม โดยเลือกรับประทานวิตามินจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ตามคำแนะนำบนฉลากยา โดยมีปริมาณวิตามินอาหารเสริมที่ควรได้รับต่อวันจะแตกต่างกันตามเพศและวัย แต่โดยทั่วไปอาจระบุได้ในเบื้องต้น เช่น

  • วิตามินเอ ควรได้รับในปริมาณ วันละ 800-1,000 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี มีหลากหลายชนิด ซึ่งร่างกายจะต้องการในปริมาณที่แตกต่างกัน เช่น วิตามินบี 1 ควรได้รับวันละ 5 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 ควรได้รับวันละ 7 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 ควรได้รับวันละ 20 มิลลิกรัม เป็นต้น
  • วิตามินซี ควรได้รับในปริมาณ วันละ 80-100 มิลลิกรัม
  • วิตามินดี ควรได้รับในปริมาณไม่เกิน วันละ 50 ไมโครกรัม
  • วิตามินอี ควรได้รับในปริมาณไม่เกิน วันละ 1,000 ไมโครกรัม

ร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน การทานวิตามินประเภทเดียวอาจยังไม่ตอบโจทย์อย่างครบถ้วน ที่ BDMS Wellness Clinic มีบริการแพ็กเกจวิตามินเฉพาะบุคคล โดยแพทย์ผู้ชำนาญการจะทำการออกแบบโดยวิเคราะห์จากผลตรวจสุขภาพของแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้รายการชนิดของวิตามิน และปริมาณวิตามินที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ตรงตามที่ร่างกายต้องการ หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official: @bdmswellnessclinic

 ข้อมูลอ้างอิง

  1. วิตามินและแร่ธาตุ. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 จาก https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413/วิตามินและแร่ธาตุ(ตอนที่1)/
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved