World Hypertension Day 2025 "ดูแลความดันอย่างมือโปร ด้วยเทคนิค MASTER Plan”

คลินิกสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
คลินิกสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด
-
15 พ.ค. 2568
-

      “ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)” เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรทั่วโลก สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งยุโรป (European Society of Hypertension, ESH) จึงได้พัฒนาแนวทางในการจัดการภาวะความดันโลหิตสูงอย่างเป็นระบบ เรียกว่า ‘MASTER’ Plan เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกัน คื

M - Measure (วัดความดันโลหิตเป็นประจำ)

การวัดความดันโลหิตที่ถูกต้องมีความสำคัญในการวินิจฉัยและการจัดการภาวะความดันโลหิตสูง การใช้เครื่องมือที่ได้มาตรฐาน ศึกษาหลักการใช้ตามคู่มือที่ให้มาแต่ละรุ่น และมีเทคนิคการวัดที่ถูกต้อง จะช่วยให้ได้ค่าความดันโลหิตที่แม่นยำมากขึ้น

A - Assess (ประเมินภาวะสุขภาพ)

หลังจากวัดค่าความดันโลหิตแล้ว จำเป็นต้องประเมินปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ (ประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ชีวิต) ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาที่ผ่านมา และปัจจัยอื่นที่อาจมีผลต่อความดันโลหิตสูง รวมถึงการตรวจหาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล

ST - Select Therapy (เลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสม)

แนวทางการรักษาประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่

  1. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ยังคงเป็นกุญแจสำคัญในการดูแลภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การจัดการความเครียด และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ การสัมผัสมลพิษทางเสียงและทางอากาศ เป็นต้น

  2. การใช้ยาลดความดันโลหิต โดยกลุ่มยาหลักที่ใช้ ได้แก่ กลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors กลุ่ม Angiotensin II receptor blockers (ARBs) กลุ่ม Calcium channel blockers กลุ่ม Beta-blockers และกลุ่มยาขับปัสสาวะ Thiazide diuretics ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเภสัชกร ในการเลือกและบริหารจัดการยาที่เหมาะสม

ER - Evaluate Response (ประเมินและติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ)

หลังจากเริ่มการรักษา ควรติดตามผลทุก 3 เดือนเพื่อดูการตอบสนองต่อยา และการปรับพฤติกรรมหลังจากได้รับคำแนะนำไป โดยเป้าหมายควรให้ค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 140/80 mmHg 

นอกจากนี้ การตรวจเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น การทำงานของไต (eGFR) และระดับโพแทสเซียมในเลือด หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ทั้งค่าระดับน้ำตาล ค่าระดับไขมัน LDL คอเลสเตอรอล เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากยาที่ได้รับ และปรับแผนการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

       ภาวะความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหัวใจและหลอดเลือด การจัดการภาวะความดันโลหิตสูงอย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยแผนการรักษาที่เป็นระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมความดันโลหิตได้อย่างเหมาะสม

       เนื่องในวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก ภายใต้แนวคิด “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer!” อยากเชิญชวนทุกท่านร่วมกันให้ความสำคัญของการวัดความดันโลหิตที่แม่นยำ เพื่อควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม และยืดชีวิตให้ยืนยาว

รายการอ้างอิง

  1. Kreutz R, Brunström M, Burnier M, Grassi G, Januszewicz A, Muiesan ML, et al. 2024 European Society of Hypertension clinical practice guidelines for the management of arterial hypertension. European Journal of Internal Medicine. 2024;126:1-15.

  2. World Hypertension League 2025. World Hypertension Day [Internet]. 2025 [cited 2025 Mar 20]. Available from: https://www.whleague.org/about-us/world-hypertension-day

Share:

Related Articles

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved