ติดต่อ +66 2 826 9999
Mon - Fri 07:00 - 20:00
Sat - Sun 07:00 - 17:00

ปวดท้องประจำเดือน อาการที่ไม่ควรมองข้ามของผู้หญิง

คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี
คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี
-
02 ส.ค. 2566
-

 

ปวดท้องประจำเดือนคืออะไร?

อาการปวดประจำเดือน คืออาการปวดบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานในช่วงก่อนประจำเดือนมา 1-2 วัน หรือระหว่างช่วงการมีประจำเดือน อาจมีตั้งแต่อาการตั้งแต่ปวดหน่วงเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน และอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน  ปวดศีรษะ ปวดหลัง เป็นต้น โดยพบว่าผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์จะพบอุบัติการณ์ การเกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้สูงถึง 60-90% โดยที่ 3-10% พบว่ามีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรง

 

สาเหตุของการปวดท้องประจำเดือน

ในรอบ 21-35 วันของรอบประจำเดือน หากไม่มีปฏิสนธิเกิดขึ้น เยื่อบุโพรงมดลูกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน อาการปวดประจำเดือนเกิดจากสารที่ชื่อว่า โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งหลั่งออกมาในช่วงที่เยื่อบุโพรงมดลูกมีการหลุดลอกระหว่างการมีประจำเดือน โพรสตาแกลนดินทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็งจนเกิดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการอื่นเช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ท้องเสีย ร่วมด้วย

โดยร่างกายของแต่ละคนมีการสร้างสารโพรสตาแกลนดินแตกต่างกันออกไป รวมทั้งการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร ความเครียด การนอนหลับก็มีผลต่อปริมาณโพรสตาแกลนดิน เช่นกัน

 

อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท

ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea)

เป็นอาการปวดประจำเดือนที่พบบ่อยที่สุด มักพบในวัยรุ่นและเมื่ออายุมากขึ้นอาการปวดจะดีขึ้น สาเหตุมักเกิดจากการที่เยื่อบุโพรงมดลูกผลิตสารโพรสตาแกลนดินมากเกินไปโดยตรวจไม่พบสาเหตุอื่น ๆ

ปวดประจำเดือนประเภททุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea)

การปวดประจำเดือนที่ตรวจพบพยาธิสภาพในอุ้งเชิงกราน เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือ ช็อคโกแลตซีสท์, เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis), เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Myoma uteri), การอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease) และ ปากมดลูกตีบ (Cervical stenosis) เป็นต้น

การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมินี้มักเกิดในกลุ่มอายุ 25-30 ปีขึ้นไป โดยอาการปวดมักจะปวดมากและ ปวดนานกว่าการปวดแบบปฐมภูมิ อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีประจำเดือนมากขึ้นจนมีภาวะโลหิตจาง มีภาวะมีบุตรยาก เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีอาการปวดหลัง ปัสสาวะ อุจจาระผิดปกติช่วงมีประจำเดือนได้

 

อาการที่ควรไปพบแพทย์
  • ปวดประจำเดือนมาก รับประทานยาไม่ดีขึ้น หรือปวดมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมาไม่สม่ำเสมอ
  • ปวดท้องน้อยเรื้อรัง แม้ในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน
  • มีปัญหามีบุตรยาก
  • มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวผิดปกติ คันช่องคลอด ปัสสาวะขัด

ผู้หญิงที่มีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน และทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมตามสาเหตุที่สงสัย เช่น การตรวจอัลตราซาวน์อุ้งเชิงกราน และอาจพิจารณาทำการส่องกล่องเข้าไปในช่องท้อง  เพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคทางนรีเวชต่าง ๆ เช่น ถุงน้ำรังไข่ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะพังผืดในอุ้งเชิงกราน รวมถึงสามารถหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากได้อีกด้วย

 

การป้องกันหรือบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
  • ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบท้องน้อยประมาณ 15-20 นาที
  • ออกกำลังกายเบา ๆ เนื่องจากการออกกำลังกายทำให้มีฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) หลั่งออกมามากขึ้น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและทำให้อารมณ์ดี
  • ลดปริมาณอาหารที่มีไขมัน เกลือ เครื่องดื่มผสมคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และขนมหวาน เนื่องจากเพิ่มการหลั่งโพรสตาแกลนดินในร่างกาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอลล์และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีเกลือแร่และวิตามิน และ สารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ

 

References
  • Ju H, Jones M, Mishra G. The prevalence and risk factors of dysmenorrhea. Epidemiol Rev. 2014;36:104-13. doi: 10.1093/epirev/mxt009. Epub 2013 Nov 26.
  • Nagy H., Khan Moien AB. Dysmenorrhea [eBook]. StatPearls Publishing; 2022 Jan [cited 2022 Aug]. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560834/
  • Ju H, Jones M, Mishra G. The Prevalence and Risk Factors of Dysmenorrhea. Epidemiologic Reviews. 2014 Jan 1;36(1):104–13. 
  • Barcikowska Z, Wójcik-Bilkiewicz K, Sobierajska-Rek A, Grzybowska ME, Wąż P, Zorena K. Dysmenorrhea and Associated Factors among Polish Women: A Cross-Sectional Study. Pain Research and Management. 2020 Jul 11;2020:6161536. 

Share:

Recommended Packages & Promotions

แพ็กเกจตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี

อัลตราซาวด์ทางช่องคลอด (TVS) + ThinPrep + Cobas HPV ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 67 (...

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved