อาการผมร่วง หลังโควิด

คลินิกผิวพรรณ ความงาม และสุขภาพเส้นผม
คลินิกผิวพรรณ ความงาม และสุขภาพเส้นผม
-
29 ส.ค. 2566
-

 

หายป่วยแล้ว…แต่ทำไมผมไม่แข็งแรงเหมือนเดิม? 

 

 

ผลข้างเคียงระยะยาวหลังการติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19) หรือรู้จักกันใน ชื่อ #ภาวะลองโควิด (Long COVID) พบได้ตั้งแต่สูญเสียการรับกลิ่นและรสชาติ รู้สึกเหนื่อยอ่อนแรง จนไปถึงภาวะสมองล้า (Brain Fog) แต่หลายคนอาจสังเกตว่า ตนเองมี #ผมหลุดร่วง มากขึ้นกว่าปกติ เป็นกระจุกระหว่างหวีผมหรือขณะสระผม มีรายงานแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยจำนวนมากมีอาการของ #โรคผมร่วงทั่วศีรษะ (Telogen Effluvium) สืบเนื่องมาจากการติดเชื้อโควิด-19 

วงจรการร่วงของเส้นผม โดยปกติประมาณ 90% ของเส้นผมบนหนังศีรษะอยู่ในช่วงการเจริญเติบโต ที่เรียกว่า แอนาเจน (Anagen) เป็นเวลาประมาณ 3 – 7 ปี และอีกประมาณ 10% อยู่ในระยะสุดท้ายที่เรียกว่า เทโลเจน (Telogen) ประมาณ 2 – 6 เดือน เป็นระยะที่เส้นผมเข้าสู่ช่วงผลัดผม (Shedding) และหลุดร่วงออกจากรูขุมขน ก่อนเส้นผมจะเข้าสู่ระยะเจริญเติบโตอีกครั้งและเริ่มต้นวงจรใหม่

โดยเฉลี่ยแล้วเส้นผมถูกผลัดประมาณ 100 ถึง 150 เส้นต่อวัน แต่เมื่อประสบกับความเครียด เช่น การติดเชื้อโควิด-19 ร่างกายของเราสามารถเปลี่ยนเส้นผมเข้าสู่ช่วงเทโลเจนได้ก่อนเวลาอันควร อาจทำให้มีเส้นผมเข้าสู่ระยะสุดท้ายมากถึง 50%

ผมร่วงจากโควิด-19 เมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัสหรือเจ็บป่วยจากสาเหตุอื่น ร่างกายต้องทุ่มกำลังไปต่อสู้กับเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถใช้สารอาหารและพลังงานไปกับการเจริญเติบโตของเส้นผมได้ อย่างไรก็ตามผลกระทบจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผม เช่น 

  • น้ำหนักตัวลด
  • ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน
  • ความเครียดทางอารมณ์
  • การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ
  • การรับประทานยาบางชนิด

อาการผมร่วงจะอยู่นานแค่ไหน

ข่าวดีก็คือ อาการผมร่วงทั่วศีรษะส่วนใหญ่จะกลับมาเป็นปกติในเวลาประมาณ 3 - 6 เดือนหลังจากเส้นผมที่อยู่ในช่วงเทโลเจนเริ่มหมดไป และการเจริญเติบโตของเส้นผมเริ่มกลับเข้าสู่วงจรปกติ เพราะอาการผมร่วงทั่วศีรษะไม่ได้ส่งผลต่อรูขุมขน (Hair Follicles) จึงทำให้เส้นผมยังเจริญเติบโตได้อีกครั้ง การออกกำลังกาย พักผ่อนอย่างเพียงพอ จัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และรับประทานอาหารครบถ้วนอย่างสมดุล เช่น การบริโภคโปรตีนมากขึ้น และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ อาจช่วยให้อาการผมร่วงดีขึ้น

อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่ประสบปัญหาผมร่วงรุนแรงและยาวนานกว่า 4 – 6 เดือน โดยไม่มีทีท่าจะดีขึ้น แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

การรักษาผมร่วง
  1. การใช้ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาที่ใช้ทั่วไปในการรักษาผมร่วง ช่วยในการขยายหลอดเลือดแดง ส่งผลให้มีสารอาหารไหลเวียนไปที่เส้นผมมากขึ้น และกระตุ้นให้ผมเข้าสู่ช่วงเจริญเติบโต
  2. วิตามินเสริม วิตามินบี7 (ไบโอติน) สังกะสี วิตามินดี หรือธาตุเหล็ก มีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม การเสริมสารอาหารดังกล่าวมีส่วนช่วยลดปัญหาการหลุดร่วงของเส้นผมได้
  3. การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP จากการนำเกล็ดเลือดฉีดเข้าสู่หนังศีรษะเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูของเส้นผม 
  4. การทำเลเซอร์ เป็นการใช้คลื่นพลังงานเลเซอร์กระตุ้นรากผมให้ได้รับสารอาหารและออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น เพิ่มความแข็งแรงและเร่งการเจริญเติบโตของเส้นผมที่เกิดใหม่

แม้ภาวะผมร่วงจากการติดเชื้อโควิด-19 จะเกิดเพียงชั่วคราวและอาการสามารถดีขึ้นได้ แต่ปัญหาผมร่วงถือเป็นโรคที่มีความซับซ้อน ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุและวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

 

ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic

โทร: 028269999

LINE: @bdmswellnessclinic

 

แหล่งอ้างอิง
  • Cleveland Clinic. Covid-19 may cause hair loss [Internet]. Cleveland Clinic. Cleveland Clinic; 2022 [cited 2023Mar27]. Available from: https:// health.clevelandclinic.org/how-coronavirus-might-be-driving-more-stress-relatedhair-loss/
  • University of Utah Health. Losing your hair after COVID-19? there is good news [Internet]. University of Utah Health | University of Utah Health. 2022 [cited 2023Mar27]. Available from: https://healthcare.utah.edu /healthfeed/ 2022/03/losing-your-hair-a\er-covid-19-there-good-news

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved