เดนมาร์กบังคับใช้ภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเกษตรครั้งแรกในโลก
Highlight:
-
เดนมาร์กได้บรรลุข้อตกลงการเก็บภาษีสภาพอากาศสำหรับภาคเกษตรกรรม รวมถึงก๊าซมีเทนจากการเรอและผายลมจากสัตว์ ภายใต้ “ข้อตกลงไตรภาคีสีเขียว” (Green Tripartite Agreement)
-
ประกาศครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังการเจรจาระหว่างพรรคการเมืองหลัก เกษตรกร อุตสาหกรรม สหภาพแรงงาน และกลุ่มสิ่งแวดล้อมนานหลายเดือน
ข้อตกลงด้านภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก
- การจัดเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
เริ่มต้นจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2030 ในอัตรา 42 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหนึ่งตัน และอัตรานี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 106 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2035
- สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับฟาร์มที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
มอบการลดหย่อนภาษี 60% เพื่อกระตุ้นให้ฟาร์มลดการปล่อยก๊าซ ส่งผลให้อัตราภาษีสำหรับฟาร์มที่มีการปล่อยก๊าซต่ำจะอยู่ที่ 17 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2030 และ 42 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2035
- การปลูกป่าและฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ
กองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์สีเขียว (Green Landscape Fund) เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีงบประมาณ 5.4 พันล้านยูโรจากรัฐบาล โดยวางแผนปลูกป่าใหม่ 1,562,500 ไร่ และฟื้นฟูพื้นที่พรุ (peatlands) ขนาด 875,000 ไร่ให้กลับสู่สภาพธรรมชาติ
พื้นที่พรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีลักษณะเป็นดินอิ่มน้ำ และถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ ปัจจุบันประมาณ 60% ของพื้นที่ในเดนมาร์กถูกใช้เพื่อการเกษตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ เช่นเดียวกับบังกลาเทศ
นอกจากนี้ข้อตกลงดังกล่าวยังนำรายได้จากการเก็บภาษีไปส่งเสริมเทคโนโลยีและโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจูงใจให้เกษตรกรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดว่าเดนมาร์กอาจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 2.6 ล้านตันในปี 2032
การทำการเกษตรมีส่วนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมทางน้ำเสื่อมโทรม การใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ไนโตรเจนถูกชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ ทะเลชายฝั่งและฟยอร์ด ออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง ซึ่งคาดว่าข้อตกลงนี้จะลดมลพิษจากไนโตรเจนได้ถึง 13,780 ตันต่อปีตั้งแต่ปี 2027 เพื่อฟื้นฟูชายฝั่งและฟยอร์ด
ระบบย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง (Ruminant) อย่างวัวและแกะมีกระบวนการหมักในกระเพาะอาหารที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งมีศักยภาพในการทำให้โลกร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า เมื่อรวมการทำปศุสัตว์ทั่วโลก ก๊าซที่ปล่อยออกมาจากการเลี้ยงสัตว์จึงมีผลกระทบอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แม้จะยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากบางฝ่าย แต่ข้อตกลงนี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมที่จะช่วยโลกของเดนมาร์ก และประเทศอื่น ๆ สามารถเรียนรู้และนำไปใช้ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น
แหล่งอ้างอิง
- New Zealand Ministry of Foreign Affairs and Trade. A Green Denmark: First country to tax agricultural emissions - November 2024 [Internet]. New Zealand Ministry of Foreign Affairs and Trade. 2024. Available from: https://www.mfat.govt.nz/en/trade/mfat-market-reports/a-green-denmark-first-country-to-tax-agricultural-emissions-november-2024
- Khalil H. Flatulence tax: Denmark agrees deal to tax farmers for livestock emissions [Internet]. 2024. Available from: https://www.bbc.com/news/articles/c20nq8qgep3o