บะหมี่ (กึ่งสำเร็จรูป) ชามโปรด โทษไม่ธรรมดา
World Instant Noodle Day 2024
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป (Instant Noodle/Instant Ramen) เป็นบะหมี่แห้งแบบกึ่งเตรียมมาแล้ว กล่าวคือ มีการทำให้สุกหรือสุกบ้างแล้ว บรรจุขายในลักษณะซองหีบห่อ และแบบถ้วยหรือชาม ซึ่งปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าทั่วไป
ข้อมูลการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลก (World Instant Noodle Association, WINA) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมา ประเทศจีน/ฮ่องกงบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนี้มากที่สุดในโลก ถึง 42,210 ล้านหน่วยบริโภค ตามมาด้วยประเทศอินโดนีเซีย 14,540 ล้านหน่วยบริโภค (อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) และประเทศอินเดีย 8,680 ล้านหน่วยบริโภค ส่วนประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 9 จำนวนทั้งสิ้นกว่า 3,950 ล้านหน่วยบริโภค และยังเป็นอันดับที่ 4 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อกล่าวถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว คงไม่มีใครไม่รู้จักและน้อยคนที่จะไม่เคยลิ้มลอง ด้วยรสชาติที่หลากหลาย และด้วยคุณสมบัติพิเศษคือ ‘เก็บไว้ได้นาน’ โดยอาศัยกรรมวิธีการถนอมอาหาร จึงเปลี่ยนแปลงรูปร่างจาก ‘บะหมี่’ ที่หน้าตาคุ้นเคยกลายเป็นเส้นอบ/ทอดกรอบพร้อมผงปรุงรส ใช้เพียงน้ำร้อนและเวลาเพียงไม่กี่นาทีก็จะพร้อมรับประทานในทันที ทำให้อาหารประเภทนี้เป็นที่ถูกใจผู้คนทั่วโลก แต่ก่อนที่จะเพลิดเพลินในความสะดวกสบายของขั้นตอน เวลา และราคาที่จับต้องได้นั้น อาหารชนิดนี้สามารถสร้างโทษให้กับร่างกายเราอย่างมองข้ามไม่ได้
-
โซเดียมสูง
ปัจจุบันคำแนะนำทั่วไป เราควรได้รับโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากเราบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเข้าไป แม้ว่าจะเพียงหนึ่งซอง เราอาจได้รับโซเดียมเข้าไปมากถึง 2,100 มิลลิกรัมได้เลยทีเดียว ฉะนั้น หากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ผลต่อระบบการทำงานของไต และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาในอนาคต
-
อุดมไปด้วยไขมันไม่ดี
ส่วนประกอบที่เป็นไขมันในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหลายยี่ห้อมาจากน้ำมันปาล์ม นั่นทำให้บะหมี่แห้งชามนี้อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งการบริโภคไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพนี้ในปริมาณมากและเป็นประจำอาจทำให้ระดับ LDL คอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น และยังเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอ้วน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ ได้
-
คุณค่าสารอาหารไม่ครบถ้วน
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง (60 กรัม) มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตสูงจากแป้งสาลี แต่หากสังเกตฉลากโภชนาการแล้วจะพบว่า มีใยอาหารต่ำ โปรตีนต่ำ นอกจากนี้ สารอาหารที่สำคัญอย่างวิตามินและเกลือแร่ที่มีความจำเป็นต่อร่างกายก็ต่ำเช่นกัน ซึ่งหากใครบริโภคอาหารนี้เป็นประจำ อาจมีความเสี่ยงต่อการขาดสารอาหารได้
การรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ด้วยจุดเด่นเรื่องความสะดวกสบายในการเตรียม ขั้นตอนไม่มาก ใช้เวลาไม่นาน ตอบโจทย์ชีวิตคนเร่งรีบ แต่ไม่ควรรับประทานเป็นประจำจนเป็นเมนูหลักในชีวิตประจำวันของเรา ในขณะเดียวกัน หากเติมวัตถุดิบหลากหลายลงไปในจาน จะช่วยเพิ่มคุณค่าสารอาหารต่าง ๆ เพราะนอกจากจะทำให้เราเพลิดเพลินกับจานอาหารได้มากขึ้น ยังดีต่อสุขภาพของเราในระยะยาวอีกด้วย
รายการอ้างอิง
- WINA. Global Demand for Instant Noodles [Internet]. Ikeda, Osaka: World Instant Noodle Association; 2024 May 13 [cited 2024 Jul 19]. Available from https://instantnoodles.org/en/noodles/demand/table/
- Yuki Masuda. Global instant noodle demand marks record on food inflation [Internet]. 2023 Sep 23 [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://asia.nikkei.com/Business/Food-Beverage/Global-instant-noodle-demand-marks-record-on-food-inflation
- Huh IS, Kim H, Jo HK, Lim CS, Kim JS, Kim SJ, et al. Instant noodle consumption is associated with cardiometabolic risk factors among college students in Seoul. Nutr Res Pract. 2017 Jun; 11(3): 232–39.
- Cho Y, Ryu S, Kim R, Shin MJ, Oh H. Ultra-processed Food Intake and Risk of Type 2 Diabetes in Korean Adults. J Nutr. 2024;154(1):243-51.
- กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์. รายงานภาวะสินค้าและโอกาสทางการค้า-สินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตลาดสหรัฐฯ [อินเทอร์เน็ต]. 7 ตุลาคม 2566 [เข้าถึงเมื่อ 19 กรกฎาคม 2567]. เข้าถึงได้จาก https://www.ditp.go.th/post/148151