อาหารโซเดียมสูง เสี่ยงโรคไต
ปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (End Stage Renal Disease; ESRD) ที่ต้องรับการฟอกเลือดหรือล้างไตทางช่องท้องมากกว่าหนึ่งแสนคน และมีแนวโน้มว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้น 15-20% ต่อปี สาเหตุสำคัญเกิดจากการรับประทานโซเดียมมากเกินไป จนนำไปสู่การเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease; NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไตเสื่อม
การศึกษาล่าสุดจากกลุ่มตัวอย่าง 2,388 คน อายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศไทย ในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร พบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงถึง 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือ 1.8 ช้อนชา หรือน้ำปลาประมาณ 10 ช้อนชา สูงกว่าปริมาณที่ควรได้รับเกือบสองเท่า
ซึ่งในหนึ่งวันแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม โดยพบว่าคนอายุช่วง 18-44 ปีบริโภคโซเดียมมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนวัยอื่นๆ และคนที่มีน้ำหนักเกิน คนอ้วน และคนที่มีโรคความดันโลหิตสูง รับประทานโซเดียมมากกว่าคนทั่วไป
สาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารปรุงสำเร็จ อาหารนอกบ้าน และอาหารแปรรูปที่มากเกินไป เห็นได้จากตัวอย่างปริมาณโซเดียมในอาหาร ที่คนไทยรับประทานกันเป็นประจำ
ผลการศึกษาครั้งนี้ได้สร้างความตระหนักให้คนไทยทุกคนต้องรีบหันกลับมาดูแลเรื่องการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ไม่เพียงแต่การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมน้อยลงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่ผ่านกระบวนการน้อย หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เน้นบริโภคธัญพืช เช่น ข้าวไม่ขัดสี ถั่ว ผักผลไม้ที่หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมในการช่วยรักษาสมดุลความดันโลหิต และเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อปลา ถั่วหลากชนิด หรือเต้าหู้ ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
5 เคล็ดลับลดโซเดียมในอาหาร พร้อมกับเมนูอาหารโซเดียมสูงที่ควรหลีกเลี่ยง
- เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสดใหม่ เลี่ยงการกินอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป หรืออาหารจานด่วน
- ชิมรสก่อนปรุงทุกครั้ง เพื่อลดการเติมเครื่องปรุงในอาหาร
- เลี่ยงการราดน้ำซุป หรือซดน้ำแกง ลดโซเดียมที่เจือปนในอาหาร
- ปรุงอาหารรับประทานด้วยตนเอง เพื่อควบคุมปริมาณการใช้เครื่องปรุงรส
- เพิ่มการใช้สมุนไพร เพิ่มกลิ่นและรสชาติให้อาหารอร่อยขึ้น
แหล่งที่มา
- Chailimpamontree W, Kantachuvesiri S, Aekplakorn W, Lappichetpaiboon R, Sripaiboonkij Thokanit N, Vathesatogkit P, et al. 2. 2. 2. Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation‐wide population survey with 24‐hour urine collections. The Journal of Clinical Hypertension.
- Ingsathit A, Thakkinstian A, Chaiprasert A, Sangthawan P, Gojaseni P, Kiattisunthorn K, et al. Prevalence and risk factors of chronic kidney disease in the Thai adult population: Thai SEEK study. Nephrology Dialysis Transplantation. 2010;25(5):1567-75.
- Institute of Nutrition, Mahidol university. Nutrient calculation computer software INMUCAL-Nutrient V.3 database NB.3. Nakornpathom. 2013.