สาว ๆ วัย 40+ ต้องรู้จัก Perimenopause ระยะก่อนหมดประจำเดือน
ภาวะ Perimenopause คืออะไร ควรรับมืออย่างไร ?
ผู้หญิงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป ฮอร์โมนเพศในร่างกายจะเริ่มผลิตน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งแม้จะยังไม่หมดประจำเดือน แต่ร่างกายก็มักจะเข้าสู่ระยะ Perimenopause แล้ว โดยในบทความนี้เราจะพามาทำความรู้จักว่าภาวะ Perimenopause คืออะไร มีอาการอย่างไร และมีแนวทางในการรับมืออย่างไร
Perimenopause คืออะไร ?
ภาวะก่อนหมดประจำเดือน หรือพีรีเมโนพอส (Perimenopause) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางร่างกายของเพศหญิง ก่อนจะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนโดยสมบูรณ์ โดยในช่วง Perimenopause นี้รังไข่จะค่อยๆ ลดการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนลง จนในที่สุดจะหยุดผลิตไปเลย ซึ่งการที่รังไข่ลดการสร้างฮอร์โมนลงนี้จะทำให้เกิดความผันผวนของระดับฮอร์โมนในร่างกาย และส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา
Perimenopause เกิดขึ้นกับใคร ?
ภาวะ Perimenopause มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยเกิดขึ้นก่อนวัยหมดประจำเดือนจริง ประมาณ 4-8 ปี โดยภาวะ Perimenopause ในผู้หญิงแต่ละคนอาจเกิดขึ้นช้าหรือเร็วแตกต่างกันไปตามพันธุกรรม น้ำหนัก การดูแลตัวเอง และสุขภาพโดยรวม
อาการของ Perimenopause
ในผู้หญิงที่อยู่ในช่วง Perimenopause มักพบอาการเหล่านี้
รอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
ในช่วง Perimenopause อาการรอบเดือนมักจะมาไม่สม่ำเสมอ ซึ่งถือเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด เนื่องจากการทำงานของรังไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ บางเดือนอาจมามากผิดปกติ และบางเดือนอาจข้ามไปเลย
อาการทางอารมณ์แปรปรวน
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้อารมณ์ไม่คงที่ ทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน อาจสังเกตได้จากการที่รู้สึกหงุดหงิดง่าย วิตกกังวล ซึมเศร้า เบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งโกรธง่ายได้กว่าปกติ
อาการทางกายภาพ
ภาวะ Perimenopause ยังก่อให้เกิดอาการทางกายภาพที่มีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน อย่างเช่นรู้สึกร้อนวูบวาบ เป็นไข้ นอนไม่หลับ เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อเสื่อมถอย และอื่น ๆ นอกจากนั้นการขาดสารฮอร์โมนเอสโตรเจนยังทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ เช่น กระดูกพรุน ไขมันในเลือดสูง และความจำเสื่อมได้อีกด้วย
วิธีรับมือกับภาวะ Perimenopause
1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เหมาะสม และรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ หรือช่วง Perimenopause นี้อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้ ดังนั้น จึงควรปรับวิถีชีวิตให้เหมาะสม โดยลดการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และควรมีกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย เพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนได้ดีขึ้น
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็นการเดิน วิ่ง ว่ายน้ำ หรือโยคะ จะช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน เช่น การนอนไม่หลับ ไข้ร้อนวูบวาบ และอารมณ์แปรปรวน รวมถึงช่วยป้องกันโรคต่อเนื่องอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และกระดูกพรุนได้ด้วย
3. ทานอาหารดีต่อสุขภาพ
การทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้สด ธัญพืชเต็มเมล็ด ถั่ว นม และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านกรรมวิธี ซึ่งอุดมไปด้วยแคลเซียม วิตามินต่าง ๆ และไฟเบอร์จะช่วยให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายในช่วงภาวะก่อนหมดประจำเดือน เช่น แคลเซียมที่ช่วยป้องกันกระดูกพรุน และวิตามิน เกลือแร่ที่ช่วยบำรุงร่างกาย
4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอสามารถช่วยลดความเครียดได้ เพราะการนอนหลับอย่างเพียงพอและหลับอย่างมีคุณภาพ จะช่วยให้ร่างกาย จิตใจพักผ่อนเต็มที่ ลดความเครียดและลดผลกระทบที่เกิดจากการนอนหลับไม่เพียงพอได้ด้วย
5. จัดการความเครียด
เนื่องจากความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการ Perimenopause แย่ลง ดังนั้น จัดการความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยอาจใช้วิธีการจัดการความเครียดด้วยการทำสมาธิ ฟังเพลง ทำงานอดิเรก ซึ่งจะช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายมากขึ้น
6. งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และทำให้อาการในช่วง Perimenopause แย่ลงด้วย ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นจากการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสิ่งเสพติดอื่น ๆ ด้วย
7. การรักษาโดยใช้ยาฮอร์โมนโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ
ในกรณีที่มีอาการรุนแรงจากภาวะ Perimenopause อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อลดอาการทางอารมณ์และร่างกายที่เกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ซึ่งก่อนรับยาฮอร์โมนทดแทนควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการเสมอ และพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของการใช้ยาฮอร์โมนอย่างถี่ถ้วน เพื่อความปลอดภัยและการรักษาที่เหมาะสม
ภาวะทางร่างกายและความแปรปรวนทางอารมณ์ จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของคุณผู้หญิงและคนใกล้ตัวอย่างมาก ดังนั้น นอกจากการรับมือกับภาวะ Perimenopause ด้วยการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการจัดการความเครียดอย่างถูกวิธีแล้ว ก็ควรให้ความสำคัญกับการรักษาภาวะ Perimenopause ให้ฮอร์โมนในร่างกายสมดุลด้วย เพราะจะช่วยให้เกิดผลกระทบทางด้านอารมณ์และร่างกายน้อยที่สุด
หากสังเกตพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวเริ่มมีอาการ Perimenopause เช่น อารมณ์แปรปรวนกว่าปกติ หรือรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ สามารถมาปรึกษาได้ที่ BDMS Wellness Clinic เพื่อตรวจสุขภาพระดับเซลล์ และหาแนวทางรักษาสมดุลฮอร์โมนที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic