เคล็ด (ไม่) ลับ กับสุขภาพของหัวใจ

    หัวใจ ทำหน้าที่เหมือนเป็นศูนย์รวมของชีวิต เราจึงต้องดูแลหัวใจให้แข็งแรง ด้วยแนวทางการป้องกันเชิงรุกเพื่อให้สุขภาพหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงมีประสิทธิภาพดีอยู่เสมอ

 

ทำไมต้องตรวจสุขภาพหัวใจ?

เพราะหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญและทำงานหนักตลอดเวลา ทำให้มีความเสี่อมสภาพง่าย และคนมักจะมีปัจจัยเสี่ยงอยู่เสมอที่จะเกิดโรคหัวใจ โดยเฉพาะเส้นเลือดหัวใจตีบ ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ ได้แก่
  • อายุ – โดยปกติแล้ว ความเสี่ยงของโรคหัวใจจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
  • พันธุกรรม – ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
  • เพศ - ผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้หญิงก่อนวัยหมดประจำเดือน

 

ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ ได้แก่
  • โรคความดันโลหิตสูง - การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่เป็นเวลานาน จะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดมาเลี้ยงร่างกาย กล้ามเนื้อหัวใจก็จะหนาขึ้น หัวใจจะโตขึ้น หลอดเลือดตีบแข็งและอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจตาย และนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวในที่สุด
  • การสูบบุหรี่ – ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2 – 4 เท่า เนื่องจากสารอนุมูลอิสระที่อยู่ภายในบุหรี่จะทำให้เซลล์ที่เยื่อบุผนังหลอดเลือดเสื่อม ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบตัน ซึ่งนำไปสู่สภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • ระดับไขมันในเลือด – ผู้ที่มีระดับไขมัน LDL คอเลสเตอรอลสูง จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูงขึ้น ไขมันดังกล่าวจะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาตัวขึ้น และหลอดเลือดตีบแคบลง เลือดไหลเวียนน้อยลง จนในที่สุดหลอดเลือดหัวใจก็อุดตันและเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • โรคเบาหวาน – เบาหวานจะทำให้ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น รวมทั้งหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ เสื่อมลง
  • การขาดการออกกำลังกาย – ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงจากโรคหลอดเลือดและหัวใจสูงขึ้น การออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจได้ และยังสามารถช่วยควบคุมปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิต ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด และเบาหวาน
  • ความอ้วน - ผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 30 กก. / เมตร² ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดและหัวใจโดยสามารถคำนวณดัชนีมวลกายได้จากน้ำหนักตัว (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตร²) อย่างไรก็ตามหากมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย แม้มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กก. / เมตร² ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
  • มลพิษและฝุ่น PM 2.5 - ที่ร่างกายได้รับเป็นเวลานาน

 

อาการผิดปกติ ที่บ่งบอกความเสี่ยงของโรคหัวใจ
  • เจ็บหน้าอก ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่หลอดเลือดหัวใจอุดตันค่อนข้างมาก โดยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมากจนทนไม่ได้ เหมือนมีอะไรหนัก ๆ กดทับตรงกลางหน้าอก หรือการเจ็บจากหน้าอกขึ้นไปถึงคาง หรือเจ็บลงไปถึงแขนซ้าย
  • หายใจหอบ และเหนื่อยง่ายกว่าปกติที่เคยเป็น
  • ใจสั่น เหงื่อออกเยอะ
  • หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น (Heart Attack)

 

การตรวจสุขภาพหัวใจ ต้องทำอย่างไร?
  • สำรวจตัวเองและหาความเสี่ยง
  • ตระหนักถึงความสำคัญของอาการแสดงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการแสดงของโรคหัวใจ ดังกล่าวข้างต้น 
  • การเจาะเลือดเพื่อหาโรคต่าง ๆ 
  • การเดินสายพาน (EST)
  • การตรวจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงหรือ Echocardiogram
  • การใช้ CT เพื่อดู Calcium score หรือหารอยตีบของหลอดเลือด
  • การตรวจด้วย Ultrasound Carotid เพื่อหาตะกรันในหลอดเลือดที่คอ
  • การวัดความแข็งของหลอดเลือดและดูว่ามีหลอดเลือดส่วนปลายที่ขาตีบหรือไม่ (ABI)

 

ตรวจสุขภาพหัวใจ ด้วยแพ็กเกจ BWC Ultrasound Carotid มีความสำคัญอย่างไร?

    ด้วยการสืบหาโรคด้วยการตรวจที่ครบครันและทันสมัย เพื่อหารอยโรคในหลอดเลือดของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จึงมีแพ็กเกจที่รวบรวมการตรวจที่เฉพาะเจาะจงในส่วนของ Cardiovascular เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบและถูกต้องมากที่สุด เพื่อวางแผนป้องกันตัวเองจากโรคหลอดเลือดและหัวใจ 

 

การปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่พบว่ามีรอยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ-ตัน
  1. รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และมาตรวจตามนัดทุกครั้ง
  2. รับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร
  3. รับประทานอาหารแต่พออิ่ม และควรพักหลังรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที - 1 ชั่วโมง
  4. ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการเดิน สามารถเริ่มได้โดยการเดินช้า ๆ ก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระยะทาง แต่อย่าให้เกินกำลังตนเอง
  5. ทำจิตใจให้สงบ หาโอกาสพักผ่อน และหาวิธีลดความเครียด หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้ตื่นเต้น เช่น การดูเกมส์การแข่งขันที่เร้าใจ
  6. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและเค็มจัด
  7. งดดื่มสุรา และหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  8. หลีกเลี่ยงงานหนัก งานรีบเร่ง และงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องนาน ๆ
  9. เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้หยุดกิจกรรมนั้น ๆ และรีบไปพบแพทย์ในทันที

 

บทความให้ความรู้โดย นายแพทย์ชาติทนง ยอดวุฒิ

แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคหลอดเลือดและหัวใจ BDMS Wellness Clinic

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved