Sleep is the key to good health and wellness
ชีวิตที่ยุ่งเหยิงในปัจจุบัน ทำให้แต่ละวันเราต้องรับมือกับภารกิจหลายอย่าง จนหลายคนนอนดึกหรือนอนน้อยประจำ อีกทั้งบางคนยังคิดว่าการนอนไม่สำคัญ จึงละเลยการสร้างสุขลักษณะที่ดีในการนอน ทั้งที่ความจริงแล้วการนอนหลับไม่ใช่เป็นเพียงการพักผ่อนแค่ชั่วคราว แต่ยังหมายถึงช่วงเวลาที่ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ รวมทั้งเสริมสร้างความแข็งแรงและการเจริญเติบโตให้ร่างกาย ดังนั้นการนอนหลับให้เร็วและนอนเต็มอิ่มจึงดีที่สุด โดยในช่วงเวลาที่เรานอนหลับ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดดีออกมา ช่วยให้สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย ห่างไกลจากโรค แถมยังช่วยดูอ่อนเยาว์ขึ้นอีกด้วย
ฮอร์โมนกับการนอนหลับ
เมลาโทนิน (Melatonin) หรือฮอร์โมนการนอน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้เรานอนหลับ ปกติจะหลั่งออกมาเวลา 23.00 - 01.30 น. โดยระดับเมลาโทนินในร่างกายจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงเย็น สูงสุดในช่วงกลางคืน และลดลงในตอนเช้า เพราะฮอร์โมนชนิดนี้ถูกกระตุ้นโดยความมืดและถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง ดังนั้นหากเราอยากนอนหลับได้ดี จึงควรเข้านอนให้ตรงเวลา ปรับสภาพแวดล้อมการนอนให้มืดสนิท ไม่มีแสงสว่างรบกวน
ฮอร์โมนอื่นๆในร่างกาย
-
คอร์ติซอล (Cortisol)
เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น มีพลังต่อสู้ พร้อมรับมือกับปัญหาระหว่างวัน การอดนอนจะทำให้ร่างกายอ่อนแอและอยู่ในภาวะตึงเครียด ร่างกายก็จะผลิตคอร์ติซอลออกมามากเกินความจำเป็น ซึ่งส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะฮอร์โมนชนิดนี้มีฤทธิ์สลายกลูโคส กรดไขมัน และโปรตีนด้วย จึงทำให้ร่างกายเสื่อมเร็ว ด้วยเหตุนี้คนที่เคร่งเครียดมากๆ จึงดูแก่กว่าวัย
-
ดีเอชอีเอ (DHEA : Dehydroepiandrosterone) หรือฮอร์โมนต้านความเครียด
ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (Libido) และชะลอความเสื่อมของร่างกาย ที่สำคัญยังช่วยต้านฤทธิ์ของคอร์ติซอลเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งหากเรานอนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะหลั่งดีเอชอีเอออกมาน้อย จนนำไปสู่ภาวะเสพติดความเครียด และภาวะต่อมหมวกไตล้า สาเหตุสำคัญของการล้มป่วยและติดเชื้อเฉียบพลัน
-
โกรทฮอร์โมน (Growth Hormones) หรือฮอร์โมนชะลอความแก่
มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ช่วยย่อยน้ำตาลและไขมัน ทำให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานเป็นปกติ ซึ่งร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมาในช่วงที่เราหลับลึกระหว่างเวลา 23.00 – 01.30 น. ดังนั้นเราจึงควรเข้านอนตั้งแต่ 22.00 น. หรือช้าที่สุด 23.00 น. เพราะหากเลยเวลาเที่ยงคืนแล้ว ร่างกายก็จะไม่ผลิตโกรทฮอร์โมนเพื่อซ่อมแซมแล้ว
อ้างอิง
- ตนุพล วิรุฬหการุญ. นอนถูกวิธี สุขภาพดีตลอดชีวิต. พิมพ์คร้ังที่ 4. กรุงเทพฯ: อมรินทร์เฮลท์ อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับบลิชชิ่ง; 2561.