ประจำเดือนมาไม่ปกติ กับภาวะ PCOS

 

คุณผู้หญิงหลายคนอาจเคยเจอปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ มาช้าบ้าง มาเร็วบ้าง ซึ่งก็เป็นปัญหาสร้างความกังวลและความเครียดไม่น้อย ประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ยิ่งถ้ามีอาการ สิวขึ้น ขนดกดำ หรือแต่งงานแล้วมีบุตรยาก เราอาจจะกำลังป่วยเป็นภาวะ PCOS (Polycystic Ovary Syndrome) วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภัยเงียบของผู้หญิงที่ใครหลายคนอาจจะมองข้ามไป ​

ภาวะ PCOS หรือกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ พบมากถึง 1 ใน 10 ของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ​ โดยผู้ป่วยจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน โปรเจสเตอโรน แอนโดรเจน และอินซูลินอยู่ในภาวะที่ไม่สมดุล เกิดเป็นถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมากอยู่ในรังไข่ ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง รังไข่จึงมีขนาดโตขึ้น ซึ่งกลไกการเกิดยังไม่ทราบแน่ชัด อาจเกิดจาก ความไม่สมดุลของฮอร์โมน โรคอ้วน การอักเสบในร่างกาย ภูมิแพ้อาหารแฝง(Food Intoleance) หรือพันธุกรรม ​

ผู้ป่วยภาวะ PCOS (ภาวะถุงน้ำรังไข่) จะมีอาการหรือรู้สึกถึงความผิดปกติภายหลังจากมีประจำเดือนครั้งแรก ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลัก ๆ ดังนี้ ​

  • การตกไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ​
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนไม่มาติดต่อกันนานหลายเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ​
  • ประจำเดือนมานานและอาจมามากหรือน้อยผิดปกติ ​
  • มีบุตรยาก เนื่องจากการตั้งครรภ์ต้องอาศัยการตกไข่ ซึ่งผู้ป่วยภาวะ PCOS บางราย อาจมีภาวะไม่ตกไข่ในบางเดือน หรือบางรายอาจไม่ตกไข่เลย จึงส่งผลให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ยาก ​
  • ระดับฮอร์โมนเพศชายสูงขึ้น ฮอร์โมนแอนโดรเจนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อลักษณะทางกายภายของผู้ป่วย เช่น มีขนขึ้นตามหน้าและส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มีสิวขึ้นมากผิดปกติ เสียงเปลี่ยน หรือเป็นโรคศีรษะล้านทางพันธุกรรม (Male-Pattern Baldness) ซึ่งทำให้ผมร่วงและผมบาง ​
  • อาการอื่น ๆ ผู้ป่วยภาวะ PCOS อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือเกิดความรู้สึกหดหู่มีภาวะซึมเศร้าเนื่องจากอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น​

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ ​

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นมักเป็นผลจากอาการหลักที่ของผู้ป่วย เช่น โรคอ้วน โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบมีดังนี้ ​

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ​
  • ความดันโลหิตสูง หรือภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากตั้งครรภ์ ​
  • มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเกิดจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงอย่างต่อเนื่อง ​
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก ​
  • กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ​
  • โรคตับอักเสบ ซึ่งเกิดจากการสะสมของไขมันในตับ ​
  • ภาวะมีบุตรยาก คลอดก่อนกำหนด หรือแท้งบุตร ​
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep Apnea) ​
  • โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ​

การป้องกันภาวะ PCOS (ภาวะถุงน้ำรังไข่) ​
  • การดูแลตัวเองในเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยภาวะโรคถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ คือ ​
  • ลดความอ้วน ด้วยการควบคุมอาหาร ​
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ​
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ​
  • ลดความเครียด ​
  • ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย​

​ 

กลุ่มอาการภาวะ PCOS (ภาวะถุงน้ำรังไข่) นี้ถือเป็นโรคเรื้อรังในสตรีวัยเจริญพันธุ์ ไม่มีคำตอบว่าจะใช้เวลารักษานานเท่าใดจึงจะหายจากโรค มีอาการแสดงออกในแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมีความเกี่ยวเนื่องกับความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ ถ้าไม่ได้รับวินิจฉัยและการรักษาอย่างต่อเนื่อง​

ดังนั้นสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีประจำเดือนผิดปกติ ​ มีอาการแสดงออกของฮอร์โมนเพศชายเกิน มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง มีปัญหามีบุตรยาก หรืออาจต้องสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มอาการนี้ ควรมารับการตรวจรักษาเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติและรับการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง​

 ​​

ด้วยความปรารถนาดี

จากคลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี

โทร: 028269971​

Line: @womenandfertility หรือ https://lin.ee/kna2NJA

 

Share:

Recommended Packages & Promotions

Ultrasound Transvaginal & LAB (AMH+FSH+E2) คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก และส่งเสริมสุขภาพสตรี

รังไข่ Young ดีอยู่ไหม? ตรวจเช็ก “ภาวะรังไข่เสื่อม” เสี่ยงมีบุตรยาก

6,500

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved