ร่างกายของเรา ใช้พลังงานอย่างไร?
ร่างกายคนเราต้องการพลังงานเพื่อใช้ในการทำกิจกรรม การเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ในแต่ละคนมีความต้องการพลังงานแตกต่างกันไป โดยพลังงานที่ได้รับถูกนำไปใช้ 3 ส่วนหลัก ๆ ด้วยกัน
ส่วนที่ 1 พลังงานพื้นฐานของร่างกาย (Basal Energy Expenditure; BEE)
คิดเป็น 60-75% ของพลังงานทั้งหมด เป็นพลังงานพื้นฐานที่ร่างกายใช้ในการหายใจ การไหลเวียนโลหิต การรักษาอุณหภูมิ เพื่อให้สมอง ปอด หัวใจ และกล้ามเนื้อ ทำงานได้อย่างเป็นปกติ
ส่วนที่ 2 พลังงานความร้อนที่ใช้ในระบบทางเดินอาหาร (Thermic Effect of Foods; TEF)
เป็นพลังงานที่ร่างกายใช้ในการย่อย ดูดซึม และขนส่งอาหาร คิดเป็น 10% ของพลังงานทั้งหมด ชนิดของอาหารที่รับประทานส่งผลต่อค่าพลังงาน TEF การศึกษาชี้ให้เห็นว่า ร่างกายมีการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นเมื่อรับประทานอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ มากกว่าการกินมื้ออาหารเล็กหลายๆมื้อ หรือการเลือกรับประทานอาหารไขมันต่ำจากพืชเป็นหลัก (Low-Fat Plant-Based Diets) เพิ่มการใช้พลังงานได้มากกว่าการกินอาหารไขมันสูง
ส่วนที่ 3 พลังงานที่ใช้ในการทำกิจกรรม (Energy Expended in Physical Activity; EEPA)
คิดเป็น 15-30% ของพลังงานทั้งหมด พลังงานส่วนนี้เปลี่ยนแปลงตามการทำกิจกรรมในแต่ละวัน คนที่ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ มีการใช้พลังงานมากกว่าคนที่นั่งตลอดทั้งวันและไม่เคยออกกำลังกายเลย
ความต้องการพลังงานสามารถคำนวณได้ง่าย ๆ โดยการใช้น้ำหนักตัว คูณด้วยเลข 25 ถึง 30 กิโลแคลอรี่ โดยตัวเลขที่ใช้ มีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับกิจกรรมทางกายและเป้าหมายในการควบคุมน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น
- นางสาว A น้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ทำงานนั่งโต๊ะตลอดวัน ต้องการรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ คำนวณโดยใช้น้ำหนัก 50 กิโลกรัม คูณด้วย 30 กิโลแคลอรี เท่ากับ 1500 kcal/d
- นาย B น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ต้องการจะลดน้ำหนัก ให้นำน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม คูณด้วย 25 กิโลแคลอรี ได้เท่ากับ 1500 kcal/d
สมดุลพลังงานที่ได้รับจากการรับประทานอาหารและพลังงานที่ถูกใช้ เป็นหลักการสำคัญของการดูแลสุขภาพและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม หากร่างกายได้รับพลังงานมากกว่าที่ใช้เป็นระยะเวลาติดต่อกันนาน ๆ จะส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันและน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เกิดเป็นภาวะอ้วน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
แหล่งที่มา:
1. Wang, Z., Heshka, S., Gallagher, D., Boozer, C. N., Kotler, D. P., & Heymsfield, S. B. (2000). Resting energy expenditure-fat-free mass relationship: new insights provided by body composition modeling. American Journal of Physiology-Endocrinology And Metabolism, 279(3), E539-E545.
2. Shetty, P. (2005). Energy requirements of adults. Public health nutrition, 8(7a), 994-1009.
3. Calcagno M, Kahleova H, Alwarith J, Burgess NN, Flores RA, Busta ML, et al. The thermic effect of food: a review. Journal of the American college of nutrition. 2019;38(6):547-51.