รากผมฝ่อ/ไม่แข็งแรง ต้นเหตุผมบาง รักษาได้ด้วย 6 เทคนิคนี้ !

Aesthetic & Hair Wellness Clinic
Aesthetic & Hair Wellness Clinic
-
27 Sep 2024
-

รากผมฝ่อสาเหตุผมร่วงเกิดจากอะไร ? รวมวิธีทำให้รากผมแข็งแรง

ปัญหาผมร่วง ผมบาง อาจเกิดจากรากผมฝ่อ หรือรากผมไม่แข็งแรง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม บทความนี้จะพาคุณมารู้จักต้นเหตุที่ทำให้รากผมฝ่อ พร้อมแนวทางการดูแลรากผมให้แข็งแรง เพื่อลดปัญหาผมร่วง ผมบางจากรากผมฝ่อ

รากผมไม่แข็งแรงเป็นสาเหตุของผมบาง ผมร่วง ศีรษะล้าน

อาการรากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรงคืออะไร ?

รากผมฝ่อ หมายถึง ภาวะที่รากผมเสื่อมโทรม อ่อนแอ ลีบลง และมีขนาดเล็กลงกว่าปกติ ซึ่งในวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผมตามปกติ จะมีระยะเจริญเติบโต (Anagen Phase) ที่ยาวนานถึง 2-6 ปี แต่เมื่อมีภาวะรากผมฝ่อ ระยะเจริญเติบโตของเส้นผมจะสั้นลงเหลือเพียงไม่กี่เดือน และทำให้เส้นผมไม่สามารถเจริญเติบโตได้เต็มที่ 

เมื่อรากผมไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม ทำให้เส้นผมที่งอกออกมามีลักษณะบางลง สั้นลง อ่อนแอลง ซึ่งผมที่มีลักษณะนี้จะร่วงง่ายและอาจนำไปสู่ภาวะผมบาง-ศีรษะล้านในที่สุด

ความสำคัญของรากผม

รากผม (Hair Follicle) เป็นอวัยวะขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ใต้หนังศีรษะ ทำหน้าที่ผลิตเส้นผมใหม่ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม และดันเส้นผมขึ้นมาผ่านหนังศีรษะ รวมถึงเป็นตัวกำหนดสีผมด้วย

เราสามารถสรุปความสำคัญของรากผมได้ดังนี้ 

  1. ผลิตเส้นผมใหม่ โดยรากผมเป็นแหล่งกำเนิดของเซลล์ที่จะพัฒนาเป็นเส้นผม 
  2. กำหนดลักษณะของเส้นผม รากผมเป็นตัวกำหนดสีผม ความหนา และลักษณะของเส้นผม เช่น ผม ตรง หยิก หรือหยักศก
  3. ควบคุมวงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม รากผมควบคุมระยะต่าง ๆ ของการเจริญเติบโตของเส้นผม ตั้งแต่ระยะเจริญเติบโต ระยะหยุดการเจริญเติบโต และระยะหลุดร่วง
  4. รับความรู้สึก เพราะรากผมมีเส้นประสาทที่ช่วยให้เรารู้สึกได้เมื่อมีสิ่งมากระทบเส้นผม

สาเหตุที่ทำให้รากผมไม่แข็งแรง

รากผมฝ่ออาจเกิดจากหลายสาเหตุดังนี้

  • ฮอร์โมน 

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า Dihydrotestosterone (DHT) สามารถส่งผลให้รากผมฝ่อได้ เนื่องจาก DHT จะทำให้รากผมหดตัวและมีวงจรการเจริญเติบโตที่สั้นลง ส่งผลให้ผมบางลงเรื่อย ๆ

  • อายุ

เมื่ออายุมากขึ้น รากผมมักจะอ่อนแอลงตามธรรมชาติ เนื่องจากการเสื่อมของเซลล์และการลดลงของฮอร์โมนบางชนิดที่ช่วยในการเจริญเติบโตของเส้นผม

  • กรรมพันธุ์

ความโน้มเอียงทางพันธุกรรมสามารถส่งผลต่อการฝ่อของรากผม โดยเฉพาะในกรณีของผมบางแบบพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

  • โรคบางอย่าง

โรคไทรอยด์ โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) สามารถส่งผลต่อสุขภาพของรากผมได้ นอกจากนี้ ภาวะเครียดเรื้อรังก็ทำให้รากผมอ่อนแอได้เช่นกัน

  • สารเคมี

การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่มีสารเคมีรุนแรงเป็นประจำ เช่น การย้อมผม การดัดผม หรือการยืดผมบ่อย ๆ อาจทำลายรากผมและทำให้รากผมอ่อนแอลงได้

  • การขาดสารอาหารบางชนิด

การขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม สามารถส่งผลให้รากผมอ่อนแอได้ เช่น โปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก และสังกะสี 


แนวทางรักษารากผมฝ่อ และวิธีทำให้รากผมแข็งแรง

รากผมฝ่อรักษาด้วยการทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม

การดูแลความสะอาดผมและหนังศีรษะ

การดูแลความสะอาดผมและหนังศีรษะอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ โดยเลือกใช้แชมพูที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับสภาพผม หลีกเลี่ยงแชมพูที่มีสารซัลเฟต ซึ่งอาจระคายเคืองหนังศีรษะ พร้อมนวดหนังศีรษะเบา ๆ ขณะสระผม เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดจะช่วยฟื้นฟูรากผมที่ฝ่อให้กลับมาแข็งแรงได้

รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

อาหารที่รับประทานมีผลต่อความแข็งแรงของรากผม โดยควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เนื่องจากโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักของเส้นผม เพิ่มการบริโภคผักใบเขียว ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี ซึ่งอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกายและเส้นผม

เลือกรับประทานวิตามิน อาหารเสริมบำรุงรากผม

การเลือกรับประทานวิตามินและอาหารเสริมบำรุงรากผม ถือเป็นหนึ่งในวิธีช่วยเสริมความแข็งแรงของรากผมได้ โดยวิตามินและแร่ธาตุที่ควรเสริมคือ วิตามินบีรวม โดยเฉพาะไบโอติน (วิตามินบี7) ธาตุเหล็ก สังกะสี และวิตามินดี ที่สำคัญคือควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมใด ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณ

เลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้รากผมฝ่อ

อีกหนึ่งวิธีทำให้รากผมแข็งแรงคือ การเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้รากผมฝ่อ อย่างเช่นการหวีผมแรง ๆ การทำเคมีผมเป็นประจำ การหวีผมขณะที่ผมเปียก การรัดผมแน่นเกินไป หรือแม้การใช้ความร้อนในการจัดแต่งทรงผมอย่างการใช้ไดร์เป่าผม เครื่องหนีบผม หรือเครื่องม้วนผม

การฉีด PRP เพื่อกระตุ้นรากผม

รากผมฝ่ออาจรักษาได้ด้วยการฉีด PRP (Platelet-Rich Plasma) ซึ่งเป็นการนำเกล็ดเลือดเข้มข้นของตัวเองมาฉีดเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของรากผม จึงมีความปลอดภัยสูง โดยเกล็ดเลือดมีสารที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่และการไหลเวียนของเลือดบริเวณรากผม แต่ต้องทำซ้ำหลายครั้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

การทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม

รากผมฝ่อรักษาได้ด้วยการทำเลเซอร์กระตุ้นรากผม ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีเลเซอร์พลังงานต่ำเพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณหนังศีรษะ ส่งเสริมการเจริญเติบโตของรากผมได้ เนื่องจากเลเซอร์จะช่วยเพิ่มการผลิต ATP (Adenosine Triphosphate) ในเซลล์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยที่วิธีรักษานี้จะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดและไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง อย่างไรก็ตามควรทำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3-6 เดือนเพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน

หากมีปัญหาผมร่วง ผมบาง สามารถเข้ารับการตรวจหาสาเหตุ และรักษาปัญหาผมร่วงจากรากผมฝ่อได้ด้วยวิธีการทำเลเซอร์กระตุ้นรากผมที่ BDMS Wellness Clinic ซึ่งมีแพทย์ผู้ชำนาญการพร้อมดูแลปัญหาผมของคุณอย่างเหมาะสมและตรงจุด ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาได้ที่เบอร์ 02-826-9999 หรือ LINE Official @bdmswellnessclinic

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved