หมอกหนา หรือ ฝุ่นพิษ PM 2.5 ภัยร้ายที่ควรระวัง

Prevention and Wellness Clinic
Prevention and Wellness Clinic
-
28 Feb 2023
-

      หลายพื้นที่ของไทยต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศ อย่างฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีปริมาณเกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ฝุ่นพิษนี้ส่งผลต่อทุกระบบภายในร่างกาย เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจอย่างปอด ระบบไหลเวียนโลหิต และกระจายทั่วร่างกาย รวมไปถึงหัวใจและสมองได้อีกด้วย ยิ่งฝุ่นมีอนุภาคเล็กเท่าไหร่ ก็จะยิ่งอันตรายต่อร่างกายของเรามากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และผิวหนังแก่ก่อนวัย ดังนั้นเราควรที่จะรู้วิธีรับมือที่ถูกต้องและรีบปฏิบัติทันทีเพื่อไม่ให้ฝุ่นพิษทำร้ายจนรุนแรง

 

 

ใครบ้างที่ควรต้องระวัง?
  • ผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการคัดจมูก แน่นจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่สะดวก มีอาการไอหรือไอมีเสมหะ ยิ่งทำให้ง่ายต่ออาการกำเริบและรุนแรงมากกว่าบุคคลทั่วไป
  • เด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ระบบการหายใจและภูมิคุ้มกันยังทำงานไม่สมบูรณ์เต็มที่เหมือนกับผู้ใหญ่ จึงควรเฝ้าระวังเพราะอาจส่งผลกระทบได้ 2 ระยะ ได้แก่
    • ระยะเฉียบพลัน โดยจะมีอาการเป็นไข้ ตัวร้อน แสบตา ตาแดง แสบจมูก หากเด็กมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น หอบหืด หรือภูมิแพ้ อาการอาจกำเริบได้มาก จนมีอาการหายใจเร็วเฉียบพลัน แน่นหน้าอก หรือในกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อง่าย อาจจะมีอาการติดเชื้อรุนแรงมากกว่าปกติถึงขั้นไอจามเป็นเลือด
    • ระยะยาว อาจทำให้สมรรถภาพปอดลดลง หรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้
  • ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคทางสมองยิ่งต้องระวัง เพราะผู้สูงอายุจะมีภูมิคุ้มกันลดน้อยลงไปตามวัย หากยิ่งสูดดมเอาฝุ่นพิษเข้าไปจำนวนมาก สารพิษเหล่านั้นจะเข้าสู่อวัยวะที่สำคัญโดยตรง จนทำให้อาการกำเริบหนักและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • สตรีมีครรภ์ จะมีความเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้า ตัวเล็ก และยิ่งสัมผัสฝุ่นมลพิษในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์แล้ว อาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้

เตรียมพร้อม…เพื่อป้องกัน PM 2.5 ไว้ก่อน!
  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างเด็ดขาด
  • หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ควรใส่หน้ากากอนามัย N95
  • ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อไม่ให้มลพิษหรือฝุ่นเข้ามาสะสมภายในอาคาร และใช้เครื่องฟอกอากาศในอาคารที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษและควัน เช่น งดการเผาทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ใช้รถควันดำ เป็นต้น
  • หมั่นสังเกตสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ หากเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ให้รีบพบแพทย์ทันที ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง
  • ดูแลสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง โดยการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารในการต้านอนุมูลอิสระ ดังนี้
    • วิตามินซี ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงและชะลอความเสื่อมของร่างกาย พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น
    • วิตามินเอ ช่วยบำรุงสายตาและผิวพรรณ รวมทั้งมีส่วนช่วยลดการอักเสบ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก เป็นต้น
    • วิตามินอี ช่วยลดการอักเสบของในร่างกาย ได้แก่ ไข่ ธัญพืช เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน อะโวคาโด เป็นต้น
    • วิตามินดี นอกจากจะช่วยการดูดซึมแคลเซียมแล้ว ยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดีขึ้น ได้แก่ รับแสงแดดอ่อน ๆ ตอนเช้าก่อน 08.00 น. หรือตอนเย็น 16.00 น. ประมาณ 10 - 20 นาที ซึ่งเป็นช่วงที่แดดไม่แรงมาก เพื่อที่จะไม่ทำลายผิว

      ฝุ่นพิษ PM 2.5 อันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก เราไม่ควรนิ่งนอนใจในการดูแลและป้องกันสุขภาพตัวเองก่อนที่จะสายเกินไป ในการรับมือกับวิกฤติคุณภาพอากาศในการใช้ชีวิตประจำวัน

 ด้วยความปรารถนาดีจาก BDMS Wellness Clinic​
LINE: @bdmswellnessclinic or https://lin.ee/Z4So1yQ

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved