ฮอร์โมน กับ ความอ้วน

Prevention and Wellness Clinic
Prevention and Wellness Clinic
-
17 Aug 2019
-

 

เคยสงสัยไหมว่าทำไมเราถึงอ้วน ทั้งที่ก็ไม่ได้กินเยอะ หรือควบคุมอาหารยังไงก็ไม่ผอมลงสักที เพราะความจริงแล้วความอ้วนไม่ได้ขึ้นอยู่กับอาหารการกินเสมอไป เชื่อหรือไม่ว่า ฮอร์โมนส่งผลต่อน้ำหนักตัวของเราหรือความอ้วนด้วยเช่นกัน เพราะมีฮอร์โมนหลายชนิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น การเผาผลาญ ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัว ซึ่งจะส่งผลตั้งแต่ความรู้สึกหิวจนถึงกระบวนการสะสมไขมัน ดังนั้นหากฮอร์โมนเหล่านี้ไม่สมดุลก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราอ้วนได้

ฮอร์โมนจึงไม่ใช่เป็นเพียงสารเคมีจากต่อมไร้ท่อที่คอยควบคุมการทำงานของร่างกายให้สมดุลเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องโดยตรงกับน้ำหนักตัวของเรา ซึ่งฮอร์โมนที่มีผลกับน้ำหนัก ได้แก่

  • คอร์ติซอล (Cortisol)

คอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียด เมื่อเรารู้สึกเครียด คอร์ติซอลจะถูกกระตุ้นให้หลั่งมากขึ้นเพื่อต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูร่างกาย ฮอร์โมนตัวนี้จึงไปกระตุ้นความหิวโหย เพื่อให้เรากินอาหารเข้าไปเป็นพลังงานให้กับร่างกาย ปลุกสมองให้ตื่นตัว โดยเฉพาะอาหารพลังงานสูง ดังนั้น เมื่อไรที่เรารู้สึกเครียด ร่างกายจะถูกสั่งการให้รู้สึกหิวและอยากหาอะไรที่หวานๆ มันๆ หรืออาหารจำพวกแป้งมากินมากขึ้น จนเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว

  • เลปติน (Leptin)

เลปตินหรือฮอร์โมนความอิ่ม ทำหน้าที่ควบคุมความอยากอาหาร ซึ่งหากร่างกายมีภาวะต้านฮอร์โมนเลปติน ฮอร์โมนนี้ก็จะไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังสมองได้ ทำให้เรารู้สึกหิวตลอดเวลา และกินเท่าไรก็ไม่รู้จักอิ่ม จึงนำมาซึ่งโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในที่สุด โดยภาวะการขาดฮอร์โมนเลปตินนั้นเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นหากเรายิ่งนอนน้อยก็จะยิ่งอยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้น

  • เกรลิน (Ghrelin)

เกรลินหรือฮอร์โมนความหิว เป็นฮอร์โมนที่ถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร ช่วยกระตุ้นความหิว ทำให้เรารู้สึกอยากกินอาหารต่างๆ ซึ่งเกรลินจะหลั่งมากเป็นพิเศษในขณะที่เรารู้สึกเครียดหรือวิตกกังวล ทำงานหนัก นอนดึกหรือพักผ่อนน้อย ส่งผลให้เรารู้สึกหิวง่ายและอยากกินนู่นกินนี่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่กินจนอิ่มแล้ว

  • โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone)

โกรทฮอร์โมนทำหน้าที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของร่างกาย ช่วยฟื้นฟูและซ่อมแซมกล้ามเนื้อขณะนอนหลับลึก ที่สำคัญคือช่วยในการเผาผลาญไขมัน ดังนั้นหากนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะขาดโกรทฮอร์โมน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินมากขึ้น ทำให้สะสมไขมันมากขึ้น รวมทั้งระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลง ความอ้วนจึงมาเยือนในที่สุด

  • ไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid Hormone)

ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงาน ระดับอุณหภูมิของร่างกาย ระดับไขมันในเลือด อารมณ์ความรู้สึก รวมถึงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนั้น หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ผลิตฮอร์โมนออกมาได้น้อย ความสามารถในการเผาผลาญพลังงานก็จะต่ำกว่าปกติ น้ำหนักตัวก็จะเพิ่มขึ้นได้ง่าย อาการอ้วนแบบบวมฉุก็จะตามมา

 

ดูแลฮอร์โมนเท่ากับดูแลรูปร่าง

หากเราพยายามควบคุมอาหารแล้ว แต่น้ำหนักยังไม่ลดลง การปรับพฤติกรรมบางอย่าง เพื่อเสริมสร้างสมดุลให้กับฮอร์โมนอาจเป็นอีกหนึ่งทางออก เพราะหากต่อมผลิตฮอร์โมนตัวใดตัวหนึ่งบกพร่องไป ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของต่อมอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะระบบเผาผลาญและไขมันสะสมในร่างกาย ข้อแนะนำที่ควรทำเพื่อดูแลฮอร์โมนให้ทำงานเป็นปกติ ได้แก่

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะโปรตีนไขมันต่ำที่ดี เช่น เนื้อปลา เต้าหู้ ถั่ว และอาหารที่มีกากใยสูงจากผัก ผลไม้
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด ของมัน ขนมเบเกอรี และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม ชา กาแฟ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ โดยควรนอนพักผ่อนวันละ 8 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง และไม่ควรอดนอนติดต่อกันหลายวัน
  • ทำจิตใจให้สบาย ไม่เครียด รู้จักปล่อยวาง ทำกิจกรรมผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ ด้วยการนั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ออกไปท่องเที่ยว พบปะเพื่อนฝูง หรือทำงานอดิเรก

 

ด้วยความปรารถนาดี จาก BDMS Wellness Clinic

โทร: 028269999

LINE: @bdmswellnessclinic

 

แหล่งที่มา
  • University College London. 2017. Long-term stress linked to higher levels of obesity. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.ucl.ac.uk/news/2017/feb/long-term-stress-linked-higher-levels-obesity
  • Fraser R, Ingram MC, Anderson NH, Morrison C, Davies E, Connell JM. Cortisol effects on body mass, blood pressure, and cholesterol in the general population. Hypertension. 1999;33(6):1364-8.
  • Myers Jr MG, Leibel RL, Seeley RJ, Schwartz MW. Obesity and leptin resistance: distinguishing cause from effect. Trends in Endocrinology & Metabolism. 2010;21(11):643-51.
  • Castaneda T, Tong J, Datta R, Culler M, Tschöp M. Ghrelin in the regulation of body weight and metabolism. Frontiers in neuroendocrinology. 2010;31(1):44-60.
  • Misra M, Bredella MA, Tsai P, Mendes N, Miller KK, Klibanski A. Lower growth hormone and higher cortisol are associated with greater visceral adiposity, intramyocellular lipids, and insulin resistance in overweight girls. American Journal of Physiology-Endocrinology and Metabolism. 2008;295(2):E385-E92.
  • Reinehr T. Obesity and thyroid function. Molecular and cellular endocrinology. 2010;316(2):165-71.
  • Krotkiewski M. Thyroid hormones and treatment of obesity. International Journal of Obesity. 2000;24(S2):S116.
Share:

Recommended Packages & Promotions

BWC Dementia Signature คลินิกสุขภาพสมองและความจำ คลินิกสุขภาพสมองและความจำ

ขี้ลืม สมาธิสั้น จุดเริ่มต้น…ความเสื่อมของสมอง ตรวจเช็กสุขภาพสมองก่อนสาย

21,800

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved