ไมโครพลาสติก: ภัยเงียบคุกคามสุขภาพ
ไมโครพลาสติก: ภัยเงียบคุกคามสุขภาพ
ปัจจุบันไมโครพลาสติกถูกพบแทบทุกที่ นักวิทยาศาสตร์พบเศษพลาสติกขนาดเล็กครั้งแรกในมหาสมุทร ในสิ่งมีชีวิต เช่น ปลาและหอย จนกระทั่งเข้าสู่สิ่งที่เราบริโภคเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด ผัก ผลไม้ แม้กระทั่งเบียร์และเกลือ มีงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าผู้ใหญ่โดยเฉลี่ยอาจบริโภคไมโครพลาสติกได้ถึง 2,000 ชิ้นต่อปีจากการบริโภคเกลือเพียงอย่างเดียว
ไมโครพลาสติก คืออะไร ?
ไมโครพลาสติกคือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ขณะที่นาโนพลาสติกนั้นเล็กยิ่งกว่า โดยมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมโครเมตร การเข้าสู่ร่างกายของไมโครพลาสติกเกิดขึ้นได้ทั้งทางการบริโภคอาหาร การหายใจ หรือการสัมผัสทางผิวหนัง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าคนทั่วไปอาจสูดดมหรือกินไมโครพลาสติกจำนวนเฉลี่ย 74,000 – 121,000 ชิ้นต่อปี หรือคิดเป็นน้ำหนักเฉลี่ย 0.1-5 กรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งพลาสติก 5 กรัม เทียบเท่ากับน้ำหนักบัตรเครดิต 1 ใบ
ไมโครพลาสติกไม่เพียงเป็นอันตรายเพราะสามารถเข้าไปสู่ระบบทางเดินหายใจและฝังตัวอยู่ในเซลล์เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมสารเคมีอันตราย เช่น สารหน่วงไฟ สารหล่อลื่น หรือสารเคมีอื่นๆ ที่อาจสะสมในร่างกายได้ Dr. Heather Leslie นักพิษวิทยาเชิงนิเวศเปรียบว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้เป็นเสมือน "เส้นสปาเกตตี" และสารเคมีต่างๆ ที่ติดมากับมันเป็นเหมือน "ซอส"
สาเหตุหนึ่งของปัญหานี้เกิดจากการผลิตพลาสติกทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2 ล้านเมตริกตันในปี พ.ศ. 2493 สู่ 400 ล้านเมตริกตันในปัจจุบัน เพราะพลาสติกไม่เหมือนกับสารอื่น ๆ พวกมันไม่ย่อยสลาย แต่เพียงแค่แตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เล็กลงไปเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 พลาสติกถูกผลิตขึ้นประมาณ 8 พันล้านตัน แต่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ถูกนำไปรีไซเคิล พลาสติกส่วนที่เหลือถูกฝังกลบในผืนดิน อยู่บนชายหาดหรือมหาสมุทร ค่อย ๆ แตกสลายจนกลายเป็นไมโครพลาสติกและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยหนึ่งพบว่าพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้สามารถผ่านการป้องกันของร่างกายจนเข้าไปสู่ส่วนปลายของปอดและเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบและอาจส่งผลต่อโรคเรื้อรังต่างๆ
พลาสติกขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตรสามารถเข้าสู่เลือดและกระจายไปทั่วร่างกาย สะสมอยู่ในตับ ปอด แม้กระทั่งรกและน้ำนมของแม่ เซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เรียกว่าแมคโครฟาจจะเข้าโจมตีสิ่งแปลกปลอม แต่ก็ไม่สามารถทำลายไมโครพลาสติกได้ สุดท้ายเม็ดเลือดขาวเหล่านี้จะตายไป และเกิดวงจรแบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ จนส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน
ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากไมโครพลาสติกไม่เพียงแต่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่ยังมีงานวิจัยที่เชื่อมโยงไมโครพลาสติกกับโรคหัวใจและหลอดเลือด งานวิจัยล่าสุดในปี เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โดย ดร. ราฟฟาเอล มาร์เฟลลา ได้ตีพิมพ์ใน The New England Journal of Medicine พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดนำคราบไขมันออกจากหลอดเลือดแดง มีการตรวจพบพลาสติกในตัวอย่างคราบไขมัน โดยพบโพลีเอทิลีนใน 150 ตัวอย่าง และโพลีไวนิลคลอไรด์ใน 31 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นสารที่พบได้ทั่วไปในภาชนะใส่อาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงท่อส่งน้ำ
หลังจากติดตามเป็นระยะเวลาเกือบ 34 สัปดาห์ ผู้ที่มีพบไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกในคราบไขมันมีโอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือการเสียชีวิตสูงขึ้นถึง 4.5 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่พบไมโครพลาสติก
อีกหนึ่งงานวิจัยในปี พ.ศ. 2565 ที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างไมโครพลาสติกกับโรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease) พบไมโครพลาสติกถึง 15 ชนิดในอุจจาระของมนุษย์ โดยผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบมีปริมาณไมโครพลาสติกในอุจจาระสูงกว่าผู้ที่มีสุขภาพดี นอกจากนี้ ปริมาณไมโครพลาสติกที่พบยังมีความสัมพันธ์กับระดับความรุนแรงของโรคอีกด้วย
ไมโครพลาสติกยังเกี่ยวข้องกับโรคอ้วน นักวิจัยได้รวบรวมการศึกษาและตีพิมพ์บทวิจารณ์ลงในวารสาร Frontiers in Endocrinology โดยสันนิษฐานว่า ไมโครพลาสติกเป็น “Obesogens” ซึ่งเป็นสารเคมีที่ส่งเสริมการสะสมไขมันสีขาว (White adipose tissue) หลายการศึกษาในสัตว์ทดลองแสดงให้เห็นว่า การสะสมไมโครพลาสติกที่ตับและไต ส่งผลลดการเผาผลาญพลังงานและไขมัน ผ่านทางการรบกวนยีนต่าง ๆ เช่น CYP7a1 และ ABCb11 ที่มีความเกี่ยวข้องกับคอเลสเตอรอล และไมโครพลาสติกยังส่งผลให้แบคทีเรียในลำไส้เสียสมดุล อันนำไปสู่การเสียสมดุลของระบบร่างกายอื่นๆ
แม้ว่าผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพมนุษย์เพิ่งเริ่มมีการวิจัยและบันทึกไว้ จึงยังไม่มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างไมโครพลาสติกและโรคบางชนิด แต่สิ่งที่เป็นข้อกังวลคือ ไมโครพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า PM2.5 ซึ่งสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ลึกมาก ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคปอดและหัวใจ
อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือความเสี่ยงจากไมโครพลาสติกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและการสร้างนโยบายเพื่อจำกัดการใช้พลาสติกและลดมลพิษจากไมโครพลาสติกเป็นสิ่งที่ควรเร่งดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของเราทุกคน.
ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อสุขภาพยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม หลักฐานในปัจจุบันเพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการพิจารณาอย่างจริงจังในเรื่องการจำกัดการใช้พลาสติก รวมถึงการเร่งสร้างนโยบายเพื่อจำกัดการใช้พลาสติกและลดมลพิษจากไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งสุขภาพของมนุษย์และความสมบูรณ์ของโลกในระยะยาว.
แหล่งอ้างอิง
-
Ducroquet S, Osaka S. The plastics we breathe [Internet]. Washington Post. 2024 [cited 2024 Oct 10]. Available from: https://www.washingtonpost.com/climate-environment/interactive/2024/microplastics-air-human-body-organs-spread/
-
Microplastics are everywhere — we need to understand how they affect human health. Nature Medicine. 2024;30(4):913-.
-
Senathirajah K, Attwood S, Bhagwat G, Carbery M, Wilson S, Palanisami T. Estimation of the mass of microplastics ingested–A pivotal first step towards human health risk assessment. Journal of Hazardous Materials. 2021 Feb 15;404:124004.
-
Kannan K, Vimalkumar K. A review of human exposure to microplastics and insights into microplastics as obesogens. Frontiers in Endocrinology. 2021 Aug 18;12:724989.