รู้หรือไม่!? คนไทยมากกว่า 97% มีฟันร้าวอย่างน้อยคนละ 1 ซี่

Dental Wellness Clinic
Dental Wellness Clinic
-
08 May 2024
-

 

ฟันร้าวเป็นหนึ่งในปัญหาช่องปากที่พบได้บ่อย ซึ่งมีอาการแสดงหลากหลาย บางกรณีตรวจพบได้ยาก และสามารถสร้างอันตรายต่อฟันและกระดูกรอบรากฟันได้ ถ้าหากปล่อยไว้เป็นเวลานานและไม่ได้รับการรักษา

รอยร้าวบนตัวฟันมักมาจากสาเหตุต่อไปนี้
  • สภาวะความเครียด พฤติกรรมการนอนกัดฟัน หรือการสบฟันที่ผิดปกติ
  • การรับประทานอาหารแข็งเป็นประจำ
  • การเคี้ยวโดนวัตถุแปลกปลอม หรือของแข็งที่ปะปนในอาหารโดยบังเอิญ
  • ฟันที่เคยอุดด้วยวัสดุบูรณะขนาดใหญ่ หรือเคยสูญเสียเนื้อฟันไปมากจากการผุ

นอกจากนี้ รอยร้าวยังสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงลักษณะกายวิภาคหรือรูปร่างฟันบางลักษณะ ก็เอื้อให้เกิดรอยร้าวได้มากกว่าปกติ

การตรวจรอยร้าวของฟัน

รอยร้าวมีขนาดหลากหลาย อาจสามารถ หรือไม่สามารถสังเกตุเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทันตแพทย์จะใช้หลายวิธีประกอบกันเพื่อตรวจการมีอยู่ และจุดสิ้นสุดของรอยร้าว เพื่อวางแผนการรักษาให้กับคนไข้ การตรวจพื้นฐานรวมตั้งแต่ การซักประวัติ การตรวจรอยร้าวภายใต้กล้องกำลังขยายสูง การย้อมสีหรือใช้ fiber optic ตรวจหาร้อยร้าว การทดสอบด้วยแท่นกัด การถ่ายภาพรังสี รวมถึงการรื้อวัสดุบูรณะเดิมในฟันที่สงสัย เพื่อประเมินรอยร้าวด้านใต้

อาการฟันร้าว

มักแสดงหลากหลายขึ้นกับความลึกและความรุนแรงของรอยร้าว อาการที่พบได้บ่อยที่สุด ได้แก่

  • กัดเจ็บ เคี้ยวเจ็บ โดยเฉพาะเวลาเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียว เมื่อกัดย้ำอาจมีอาการเสียวแปล๊บ
  • เสียวฟันเวลารับประทานของเย็น หรือร้อน

อย่างไรก็ตามอาการกัดเจ็บ เคี้ยวเจ็บ หรือเสียวฟันต่ออุณหภูมิ ยังเกิดได้อีกหลายกรณี ทันตแพทย์จำเป็นต้องตรวจเพื่อแยกแยะสาเหตุของอาการดังกล่าว ทั้งนี้ฟันร้าวอาจไม่แสดงอาการใดๆเลยเป็นระยะเวลาหนึ่งก็เป็นได้

แนวทางการรักษา
  • หากรอยร้าวเกิดเฉพาะชั้นผิวฟัน จะยังไม่แสดงอาการ และยังไม่จำเป็นต้องรักษา หากเป็นหลายซี่ อาจลดปัจจัยเสี่ยงเช่น ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ใส่เฝือกสบฟันกันการกัดกระแทกเวลานอน
  • หากรอยร้าวเริ่มขยายเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน แต่ยังไม่ถึงเส้นประสาทในตัวฟัน ผู้ป่วยมักมาด้วยอาการกัดของแข็งแล้วเจ็บหรือเสียวแปล๊บ หรือเสียวฟันเวลาดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น รักษาด้วยการกรอรอยร้าวขนาดใหญ่ออก บูรณะยึดติดรอยร้าว หรือทำครอบฟันร่วมด้วย ร่วมกับการลดปัจจัยเสี่ยง เช่น ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ใส่เฝือกสบฟันกันการกัดกระแทกเวลานอน
  • หากรอยร้าวเริ่มขยายเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน ถึงเส้นประสาทในตัวฟัน กลุ่มอาการค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีอาการอะไรเลย กัดของแข็งแล้วเจ็บหรือเสียวแปล๊บ รับประทานอาหารไม่ได้ สัมผัสโดนไม่ได้ เสียวฟันหรือปวดฟันค้างเวลาดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น ปวดตุ้บ ๆ ตลอดเวลาโดยไม่ต้องเคี้ยวอาหารหรือดื่มน้ำ ปวดฟันตอนกลางคืนมากขึ้น ปวดฟันมากจนต้องอมน้ำเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด ปวดกระจายเป็นวงกว้างสู่บริเวณขมับ มุมขากรรไกร หูหรือฟันซี่อื่น อาจมีการบวมของเหงือกร่วมด้วย หากทันตแพทย์ประเมินแล้วว่ายังสามารถเก็บรักษาฟันไว้ได้ จะรักษาโดยการรักษารากฟันร่วมกับการทำครอบฟัน และลดปัจจัยเสี่ยง เช่นปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ใส่เฝือกสบฟันกันการกัดกระแทกเวลานอน
  • หากรอยร้าวขยายตัวเข้าไปในชั้นเนื้อฟัน เส้นประสาทในตัวฟัน และลงไปถึงรากฟัน อัตราความสำเร็จของการพยายามเก็บรักษาฟันค่อนข้างต่ำ อาจต้องพิจารณาถอนฟันออกและใส่รากฟันเทียมทดแทน

การหมั่นพบทันตแพทย์เป็นประจำ รวมถึงลดพฤติกรรมทำร้ายฟันโดยไม่รู้ตัว จะช่วยป้องกันการเกิดฟันร้าว และยืดอายุการใช้งานของฟันให้อยู่กับเราได้นานที่สุด

บทความโดย ทพ.นรชัย วงศ์กรเชาวลิต  ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านเอ็นโดดอนต์ บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก

 

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved