“มะเร็งลำไส้ใหญ่” คัดกรองหาความผิดปกติได้ด้วย “การส่องกล้อง” ​

ตรวจหาความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารด้วย
“การส่องกล้อง”

      ระบบทางเดินอาหารมีการทำงานที่ซับซ้อนและอาจไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจนตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค อาการต่างๆ ยังมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ซึ่งเราไม่ควรมองข้าม ในการเริ่มต้นดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ  ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสป้องกันได้ ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีในการตรวจคัดกรองจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค  ดังนั้น การป้องกัน คือ การตรวจพบให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดโรคร้ายได้แต่เนิ่น ๆ  

 

เช็กสัญญาณเสี่ยงที่ต้องระวัง
  • ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ (ที่มา : American Cancer Society)
  • ปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง หรือคลำก้อนได้ในท้อง
  • อาเจียน หรือ ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน
  • อุจจาระลำเล็กลง หรือ ถ่ายเป็นเม็ดกระสุน
  • ท้องผูก หรือ ท้องเสียเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีปัญหาด้านการกลืน เช่น กลืนลำบาก กลืนติด กลืนแล้วเจ็บ เป็นต้น 
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือมีติ่งเนื้อลำไส้ใหญ่

 

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น (Gastroscopy)

  เป็นการใช้กล้องเอ็นโดสโคปมีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เซนติเมตร ยืดหยุ่นโค้งงอได้ มีเลนส์กล้องและแสงไฟที่ปลายท่อ สอดเข้าไปทางปาก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยส่วนปลายของกล้องจะมีเลนส์ขยายภาพ ส่งภาพมายังจอมอนิเตอร์ ซึ่งทำให้แพทย์เห็นภายในอวัยวะที่ตรวจได้อย่างชัดเจน

 

การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

  เป็นการใช้กล้อง Colonoscope มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 150 เซนติเมตร ยืดหยุ่น โค้งงอได้ โดยจะสอดกล้องเข้าทางทวารหนักอย่างช้า ๆ เข้าไปถึงส่วนของลำไส้ใหญ่ตอนต้น เพื่อตรวจหาความผิดปกติของลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก สามารถวินิจฉัยโรคของลำไส้ ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที หรือขึ้นอยู่กับความยาวลำไส้ใหญ่ของคนไข้ อีกทั้งสามารถตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องผ่าตัด และสามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้ทันที 

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนการส่องกล้อง
  • ก่อนวันนัดตรวจ 1 วัน ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ไม่มีกากใย เช่น ซุป อาหารอ่อน หรือโจ๊ก หรือน้ำผลไม้ชนิดใส เป็นต้น และก่อนเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ควรต้องทำความสะอาดเพื่อให้แพทย์เห็นภาพได้ชัดเจน โดยทานยาระบาย ซึ่งจะทำในคืนก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้อง
  • กรณีมีโรคประจำตัวและยาที่ต้องใช้เป็นประจำควรปรึกษาแพทย์ประจำเพื่อพิจารณาการหยุดยาบางตัวที่มีผลต่อการส่องกล้อง
  • งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนตรวจ (งดอาหารและน้ำหลังเที่ยงคืน)
  • หลังการตรวจส่องกล้อง คนไข้ควรนอนพัก 1-2 ชั่วโมงก่อนกลับบ้าน เพื่อสังเกตอาการ อาจมีอาการอึดอัดท้อง ท้องอืด เนื่องจากมีลม อาการจะทุเลาลงหลังการตรวจ และไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง จะต้องมีผู้ดูแลพากลับบ้าน เนื่องจากการได้รับยาระงับความรู้สึก หรือในรายที่ได้รับยานอนหลับ

 

ข้อดีของการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่
  • ช่วยการวินิจฉัยสาเหตุของอาการโรคทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลดผิดปกติ ขับถ่ายผิดปกติ
  • ช่วยประเมินปัญหาความผิดปกติของก้อนเนื้อซึ่งกล้องแสดงให้เห็นลักษณะของก้อนเนื้อ หรือ แผลในลำไส้ที่ผิดปกติ หรือการอักเสบ
  • ช่วยการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่และช่วยในการรักษาก้อนเนื้องอกแบบที่ไม่ใช่มะเร็ง (polyps) ที่เจริญเติบโตขึ้นที่บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ เพื่อป้องกันไม่กลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

Share:

Recommended Packages & Promotions

Preventive Check Up คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู

เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ

39,000

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved