ข้อดี-ข้อเสียของกาแฟ
กาแฟ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของใครหลายคน จัดเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมและดื่มกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก หากดูจากสถิติในแต่ละปี ประชากรทั่วโลกดื่มกาแฟเฉลี่ยสูงถึงคนละ 42.6 ลิตร และตลาดธุรกิจกาแฟจัดได้ว่าใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มเครื่องดื่ม
ข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่า ในปี 2021 เม็ดเงินในธุรกิจกาแฟมีมูลค่าสูงถึง 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.28% จนถึงปี 2025
หากมองในด้านโภชนาการ กาแฟดำ ที่ไม่ได้เติมส่วนผสมอย่างอื่น เช่น น้ำตาลหรือครีม จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีพลังงานต่ำ กาแฟ 1 แก้ว (240 มล. หรือ 8 ออนซ์) มีพลังงานน้อยกว่า 5 กิโลแคลอรี เป็นแหล่งของสารอาหารต่าง ๆ เช่น โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมกนีเซียม และกรดโฟลิก อีกทั้งยังอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ มากมาย แต่สารซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดของกาแฟ คงหนีไม่พ้น คาเฟอีน ซึ่งทำหน้าที่กระตุ้นสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กะเปร่าและป้องกันอาการเมื่อยล้า
ปริมาณคาเฟอีนรวมถึงสารต่าง ๆ ในกาแฟจะมากหรือน้อยขึ้นกับสายพันธุ์และกระบวนการผลิต หากเปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากัน กาแฟเอสเพรซโซ่ มีคาเฟอีน 64 มิลลิกรัมต่อ 30 มิลลิลิตร ส่วนกาแฟสำเร็จรูป มีคาเฟอีน 24 มิลลิกรัม ต่อ 30 มิลลิลิตร
ปัจจุบันมีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียต่อสุขภาพจากการดื่มกาแฟ วันนี้เราจึงมาเล่าให้ทุกคนได้อ่านกันค่ะ
ข้อดีของกาแฟ ได้รับการวิจัยไว้ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย ได้แก่
- ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease; CVD) มีงานวิจัยยืนยันว่าการดื่มกาแฟดำในปริมาณที่เหมาะสมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ และยังสามารถลดการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูงถึง 21%
- ฤทธิ์ต้านมะเร็ง กาแฟมีสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟสามารถลดความเสี่ยงของมะเร็งบางชนิด เช่น หากดื่มกาแฟวันละ 2 แก้ว ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งตับได้ถึง 43% และลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านมได้ถึง 52%
- ลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน การดื่มกาแฟมีความสัมพันธ์กับการลดภาวะดื้อต่ออินสุลิน (Insulin Resistance) การดื่มกาแฟ 1 แก้วต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคเบาหวานได้ 6% และมีส่วนช่วยในการลดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน จากความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบ
- ช่วยลดโรคอ้วน กาแฟช่วยลดระดับฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ที่เกี่ยวข้องกับความหิว ช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมันในร่างกาย โดยคาเฟอีนช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานของคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ ได้ 29% และในคนอ้วนได้ 10%
- ลดความเสี่ยงของโรคทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน มีงานวิจัยพบว่า การดื่มกาแฟอย่างสม่ำเสมอ ช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการเกิดโรคที่เกี่ยวกับสมองได้
- เพิ่มประสิทธิภาพการออกกำลังกาย หากได้รับคาเฟอีน 3-6 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัม ช่วยเพิ่มสมรรถนะและความทนทานในการออกกำลังกายรูปแบบต่าง ๆ ได้
ข้อเสียของกาแฟ อย่างไรก็ตามกาแฟก็มีข้อควรระมัดระวังหลายอย่าง เช่น
- ร่างกายคนเราตอบสนองต่อกาแฟแตกต่างกัน ความสามารถในการกำจัดคาเฟอีนได้เร็วหรือช้านั้นมีความแตกต่างกันขึ้นกับรหัสพันธุกรรม CYP1A2 และ AHR ผู้ที่กำจัดคาเฟอีนได้ช้าอาจเกิดผลข้างเคียงจากการดื่มกาแฟ เช่น วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย คลื่นไส้ ปวดหัว มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
- กาแฟไม่เหมาะกับหญิงตั้งครรภ์ มีงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การดื่มกาแฟ ตั้งแต่ 2 แก้วขึ้นไป เพิ่มความเสี่ยงต่อการแท้งได้ถึง 8% และหากเพิ่มเป็น 4-7 แก้วต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์เสียชีวิตหรือภาวะตายคลอด (Stillbirth) มากขึ้นถึง 80%
- กาแฟเย็นมักมีพลังงานสูงมาก แม้ว่าภายในเมล็ดกาแฟจะมีสารต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเรื่องโรคอ้วนและโรคเบาหวานได้ แต่หากดื่มกาแฟที่เต็มไปด้วยน้ำตาลและครีม จะยิ่งซ้ำเติมให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของกรมอนามัยพบว่ากาแฟใส่นมขนาด 20 ออนซ์ จะมีพลังงานมากกว่า 200 กิโลแคลอรี และน้ำตาลมากถึง 8-9 ช้อนชา จึงแนะนำให้ดื่มเป็นกาแฟดำไม่เติมน้ำตาล
- ส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับ ตามที่รู้กันว่าการดื่มกาแฟช่วยลดอาการง่วงนอน กระตุ้นให้สมองตื่น แต่การดื่มมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ร่างกายกำจัดคาเฟอีนได้ช้า ส่งผลให้นอนหลับไม่สนิทหรืออาจนอนไม่หลับเลยก็เป็นได้
- เพิ่มอาการทางจิตเวช แม้คาเฟอีนจะมีประโยชน์ช่วยเพิ่มความตื่นตัวและสมาธิให้ผู้ดื่มมากขึ้น แต่ควรระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีอาการตื่นตระหนกหรือโรคกลัวการเข้าสังคมอยู่เดิม เพราะการบริโภคคาเฟอีนมากเกินไปทำให้เกิดอาการคล้ายกับอาการผิดปกติทางจิตเวชได้ เช่น ความรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวายใจ และอาการทางจิต
กาแฟก็เหมือนกับอาหารชนิดอื่น ที่ให้คุณประโยชน์หากทานอย่างพอดี และให้โทษกับร่างกายได้หากรับประทานมากเกินไป ดังนั้นจึงควรดื่มอย่างเหมาะสม โดยเลือกรับประทานเป็นกาแฟดำ ไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน เพื่อให้ได้รับประโยชน์และลดโอกาสการเกิดผลเสียต่อสุขภาพ
Reference
- Coffee - Worldwide | Statista Market Forecast [Internet]. Statista. 2021 [cited 8 September 2021]. Available from: https://www.statista.com/outlook/cmo/hot-drinks/coffee/worldwide
- Ding M. et al (2014) Long-term coffee consumption and risk of cardiovascular disease: a systematic review and a dose-response meta-analysis of prospective cohort studies. Circ, 129(6):643-59.
- Larsson, S. and Wolk, A., 2007. Coffee Consumption and Risk of Liver Cancer: A Meta-Analysis. Gastroenterology, 132(5), pp.1740-1745.
- Lee, P., Chan, W., Kwok, C., Wu, C., Law, S., Tsang, K., Yu, W., Yeung, Y., Chang, L., Wong, C., Wang, F. and Tse, L., 2019. Associations between Coffee Products and Breast Cancer Risk: a Case-Control study in Hong Kong Chinese Women. Scientific Reports, 9(1).
- Carlström, M. and Larsson, S., 2018. Coffee consumption and reduced risk of developing type 2 diabetes: a systematic review with meta-analysis. Nutrition Reviews, 76(6), pp.395-417.
- Guest, N., VanDusseldorp, T., Nelson, M., Grgic, J., Schoenfeld, B., Jenkins, N., Arent, S., Antonio, J., Stout, J., Trexler, E., Smith-Ryan, A., Goldstein, E., Kalman, D. and Campbell, B., 2021. International society of sports nutrition position stand: caffeine and exercise performance. Journal of the International Society of Sports Nutrition, 18(1).
- Wisborg, K., Kesmodel, U., Bech, B., Hedegaard, M. and Henriksen, B., 2003. Maternal Consumption of Coffee During Pregnancy and Stillbirth and Infant Death in the First Year of Life: Prospective Study. Obstetrical & Gynecological Survey, 58(8), pp.509-510.
- Clark, I. and Landolt, H., 2017. Coffee, caffeine, and sleep: A systematic review of epidemiological studies and randomized controlled trials. Sleep Medicine Reviews, 31, pp.70-78.
- Winston AP, Hardwick E, Jaberi N. Neuropsychiatric effects of caffeine. Advances in Psychiatric Treatment. Cambridge University Press; 2005;11(6):432–9.