แข็งแรงได้ด้วยอาหารจากพืช

عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
عيادة الصحة الوقائية والتأهيلية
-
16 Sep 2022
-

ในช่วงระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมที่เคยบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 23 กิโลกรัมต่อปี เพิ่มเป็นคนละ 42 กิโลกรัมต่อปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หนึ่งในผลกระทบจากการบริโภคเนื้อสัตว์และเนื้อสัตว์แปรรูปที่เพิ่มขึ้น คือร่างกายได้รับไขมันอิ่มตัวและสารเจือปนต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น 

แนวโน้มการเจ็บป่วยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพ กระแสการรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก หรือ Plant-based Diet กำลังขยายตัว ข้อมูลจาก STATISTA แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาด Plant-based Foods ทั่วโลกในปี 2020 มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าตลาดจะเติบโตจนมีมูลค่า 3.5 หมื่นล้านดอลลาห์สหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท ในปี 2027 

ทางด้านตลาด Plant-based Diet ในประเทศไทย ก็เติบโตต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยในปี 2019 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2024 มูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี

การรับประทานอาหารแบบ Plant-based Diet มีความหมายกว้างกว่าการรับประทานอาหารแบบมังสวิรัติทั่วไป เพราะเคร่งครัดน้อยกว่าและไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มุ่งเน้นในเรื่องสุขภาพ จากการรับประทานผักหลากหลายชนิด ธัญพืชไม่ขัดสี เลือกแหล่งโปรตีนจากเต้าหู้หรือถั่วหลากชนิด รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งต่าง ๆ

 

รูปแบบการรับประทานอาหารมังสวิรัติมีหลายประเภท ดังนี้
  1. Vegan เป็นแนวทางการรับประทานอาหารที่ค่อนข้างเคร่งครัด โดยรับประทานเฉพาะอาหารจากธัญพืช ผัก และผลไม้ งดรับประทานเนื้อสัตว์ รวมถึงและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เครื่องปรุงรส และส่วนผสมใด ๆ ที่มาจากสัตว์ เช่น น้ำผึ้ง นม หรือ เนย
  2. Semi-vegetarians หรือ Flexitarian คือ การรับประทานมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัดเท่าการรับประทานแบบวีแกน เน้นรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก แต่อาจรับประทานเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ในบางโอกาส ขึ้นกับแนวทางของแต่ละคน ตัวอย่างเช่น ในหนึ่งสัปดาห์อาจจะรับประทานมังสวิรัติแบบเต็มวัน 5 วัน สลับกับการรับประทานเนื้อสัตว์จากปลาอีก 2 วัน หรืออาจจำกัดการรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่เกิน 3 มื้อในแต่ละสัปดาห์
  3. Pesco-vegetarians สามารถรับประทานอาหารจำพวกปลาและสัตว์น้ำได้ แต่งดรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดงและสัตว์ปีก
  4. Lacto-ovo Vegetarians คือ มังสวิรัติที่ยังรับประทานอาหารประเภทไข่และนมได้ แต่งดรับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง สัตว์ปีก ปลาและสัตว์น้ำทั้งหมด

การรับประทานอาหารจากพืชเป็นหลัก มีงานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพ ดังต่อไปนี้
  • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2

อาหารแบบ Plant-based diet ที่เน้นธัญพืชไม่ขัดสี ผัก ผลไม้ ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วเมล็ดแห้ง มีปริมาณใยอาหารสูง ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด ช่วยลดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (Hemoglobin A1C; HbA1C) และลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้สูงถึง 51% เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารสุขภาพดีแต่ยังรับประทานเนื้อสัตว์อยู่

  • ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

การบริโภคเนื้อสัตว์ที่น้อยลงทำให้ได้รับไขมันอิ่มตัวน้อยลง ส่งผลให้ระดับไขมันคอเลสเตอรอล (Total Cholesterol) และไขมันชนิดไม่ดี (LDL-Cholesterol) ลดลงได้ การรับประทาน Plant-based Diet ยังช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดระดับ TMAO (Trimethylamine N-oxide) ซึ่งงานวิจัยพบว่าระดับสาร TMAO ที่สูงขึ้นมีความ สัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด การรับประทาน Plant-based diet ช่วยลดความเสี่ยงและอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Heart Disease) และโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้มากกว่า 20%

  • ช่วยรักษาระดับน้ำหนักตัวให้เหมาะสม

จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การบริโภค Plant-based Diet อย่างน้อย 4 สัปดาห์ สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 3 - 5 กิโลกรัม จากการได้รับพลังงานจากไขมันสัตว์น้อยลง รวมทั้งการรับประทานอาหารจากพืชทำให้ได้รับใยอาหารมากขึ้น ช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอิ่มท้องมากขึ้นอีกด้วย

  • ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด

การรับประทาน Plant-based Diet ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ลงได้ 45 % และมะเร็งเต้านม 67 % เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารทั่วไป เพราะพืชมีสารพฤกษเคมี (Phytochemical) หลายชนิด เช่น โพลีฟีนอล ฟลาโวนอยด์ และไลโคปีน ที่ช่วยยับยั้งกระบวนการก่อมะเร็งผ่านทางกลไกต่าง ๆ นอกจากนี้การงดเว้นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทำให้หลีกเลี่ยงการได้รับสารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่อยู่ในอาหารแปรรูป จำพวก เบคอน ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ

  • เพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระและลดการอักเสบในร่างกาย

เพราะพืชมีสารพฤกษเคมี (Phytonutrients) หลายชนิด ช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสื่อมของเซลล์และการเกิดโรคต่าง ๆ

  • เสริมความแข็งแรงของแบคทีเรียในลำไส้ (Probiotics)

ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เนื่องจากลำไส้ที่แข็งแรงทำหน้าที่เสมือนปราการสำคัญในการป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นการบริโภคใยอาหารจากผักและผลไม้เป็นประจำจึงช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดดีได้

  • ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

การหันมากินอาหารจากพืชและลดการบริโภคเนื้อสัตว์ ช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกและการใช้ที่ดินในการทำปศุสัตว์ได้สูงถึง 70-80%, ลดการใช้ทรัพยากรน้ำได้ 50%, รวมทั้งลดการใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

  • ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ต่อต้านไวรัส

จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าระดับความรุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 อาจมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะอาหารที่ผู้ป่วยรับประทานในชีวิตประจำวัน เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตส่วนใหญ่พบในผู้มีโรคประจำตัวอย่าง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานประเภทที่สอง หรือโรคไขมันและหลอดเลือด 

การศึกษาในกลุ่มบุคลากรทางแพทย์ที่สัมผัสเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ให้ผลที่น่าสนใจว่า กลุ่มคนที่รับประทานอาหารแบบ plant-based diet มีอาการเจ็บป่วยน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารแบบทั่วไปถึง 73% และแม้คุณจะเป็นกลุ่มที่รับประทานปลาหรืออาหารทะเลบ้าง (Pescatarian) แต่ความรุนแรงจากการเจ็บป่วยยังน้อยกว่ากลุ่มที่รับประทานเนื้อสัตว์ ถึง 59%

 

การรับประทานอาหารแบบ Plant-based Diet แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ทางสุขภาพมากมาย แต่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ 30 นาที อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์,  การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน, การงดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการฝึกทำสมาธิเพื่อลดความเครียด ทั้งหมดนี้เพื่อให้เรามีชีวิตยืนยาวอย่างมีคุณภาพ 

 

References
  1. Nils-Gerrit W. Global meat substitutes market size 2019-2027[Internet]. Feb 2, 2021 [cite Aug 10, 2021]. Available from: https://www.statista.com/statistics/877369/global-meat-substitutes-market-value/  
  2. Krungthai Compass. ทำความรู้จัก Plant-based Food…เมื่อเนื้อสัตว์จากพืชกลายเป็นเทรนด์อาหารโลก. November 2020 Available from: https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_625Slide_Plant_Base_Food_24_11_63_1.pdf
  3. Turner-McGrievy, G., Mandes, T., & Crimarco, A. (2017). A plant-based diet for overweight and obesity prevention and treatment. Journal of geriatric cardiology: JGC, 14(5), 369.
  4. Satija, A., Bhupathiraju, S. N., Spiegelman, D., Chiuve, S. E., Manson, J. E., Willett, W., ... & Hu, F. B. (2017). Healthful and unhealthful plant-based diets and the risk of coronary heart disease in US adults. Journal of the American College of Cardiology, 70(4), 411-422.
  5. Satija, A., Bhupathiraju, S. N., Rimm, E. B., Spiegelman, D., Chiuve, S. E., Borgi, L., ... & Hu, F. B. (2016). Plant-based dietary patterns and incidence of type 2 diabetes in US men and women: results from three prospective cohort studies. PLoS medicine, 13(6), e1002039.
  6. Toumpanakis, A., Turnbull, T., & Alba-Barba, I. (2018). Effectiveness of plant-based diets in promoting well-being in the management of type 2 diabetes: a systematic review. BMJ Open Diabetes Research and Care, 6(1).
  7. Chen, Z., Wang, P. P., Woodrow, J., Zhu, Y., Roebothan, B., Mclaughlin, J. R., & Parfrey, P. S. (2015). Dietary patterns and colorectal cancer: results from a Canadian population-based study. Nutrition journal, 14(1), 1-9.
  8. Rigi, S., Mousavi, S. M., Benisi-Kohansal, S., Azadbakht, L., & Esmaillzadeh, A. (2021). The association between plant-based dietary patterns and risk of breast cancer: a case–control study. Scientific Reports, 11(1), 1-10.
Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved