ไขมันสีน้ำตาล ทางออกของการลดน้ำหนัก

คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
คลินิกสุขภาพเชิงป้องกัน และฟื้นฟู
-
12 ต.ค. 2563
-

    ปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้ชัดจากสถิติองค์การอนามัยโลก (WHO) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1975 ถึงปัจจุบันที่ประชากรทั่วโลกมีปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้นเกือบสามเท่า คิดเป็น 52% ของประชากรทั้งหมด

    เช่นเดียวกับประเทศไทยที่พบคนอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน สูงเป็นอันดับสองของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ​ ​ ​ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร มีอัตราน้ำหนักเกินสูงถึง 50% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ​

    ถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์, การรับประทานอาหาร, การออกกำลังกายและคิดค้นยารักษาเพื่อช่วยแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนประชากรที่ประสบปัญหาน้ำหนักเกินได้

 

    โรคอ้วนมีสาเหตุมาจากพลังงานที่ร่างกายได้รับเข้ามามากกว่าพลังงานที่ถูกใช้ออกไป ทำให้พลังงานที่เกินจากความต้องการถูกเก็บสะสมอยู่ในรูปของเซลล์ ไขมันสีขาว (White adipose tissue) ซึ่งมักสะสมอยู่บริเวณสะโพก ต้นขา ต้นแขน และที่สำคัญคือ บริเวณช่องท้อง (Visceral fat) ทำให้เส้นรอบเอวของเราขนาดใหญ่ขึ้น หรือที่เราเรียกว่าอ้วนลงพุง

    ซึ่งไขมันในช่องท้องนี้เองเป็นส่วนที่อันตรายที่สุดเพราะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ เบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) อีกมากมาย​

    นอกจากเซลล์ไขมันสีขาวแล้ว หลายท่านทราบหรือไม่ว่าเรายังมีเซลล์ไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ไขมันสีน้ำตาล (Brown adipose tissue) ที่มีลักษณะและทำงานตรงข้ามกับไขมันสีขาว

    ไขมันชนิดนี้จะมีสีแดงเข้มออกน้ำตาลเนื่องจากมี ธาตุเหล็กในไมโทคอนเดรีย เส้นเลือด เส้นประสาท และมีโปรตีนจำเพาะที่พบเฉพาะไขมันสีน้ำตาล คือ Uncoupling protein1 (UCP1) จำนวนมาก ​ ทำให้เราพบไขมันสีน้ำตาลนี้ตามแนวแกนกลางลำตัว เช่น คอ รอบกระดูกสันหลัง พบมากในวัยเด็กและลดลงเรื่อยๆ

ไขมันสีน้ำตาล ช่วยลดความอ้วนได้อย่างไร

    เมื่อมีอายุมากขึ้น เซลล์ไขมันสีน้ำตาลทำหน้าที่สำคัญในการเผาผลาญพลังงานจากน้ำตาลและไขมัน (Energy catabolism) และผลิตความร้อนเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกาย ดังนั้นคนที่มีปริมาณไขมันสีน้ำตาลมากจะสามารถเผาผลาญพลังงาน และทนความหนาวเย็นได้นานกว่านั่นเอง​

    ไขมันสีน้ำตาลได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะอาจตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาโรคอ้วนได้ แม้ว่าเซลล์ไขมันสีน้ำตาลแม้จะพบเพียง 50 กรัม หรือน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักตัว แต่ถ้าเซลล์ไขมันสีน้ำตาลถูกกระตุ้นให้ทำงานอย่างเต็มที่จะทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ถึง 20% ของการใช้พลังงานของร่างกายต่อวัน ในขณะที่เซลล์ไขมันสีขาวสะสมในร่างกายได้มากถึง 50% ของน้ำหนักตัวในผู้ใหญ่ที่ได้รับพลังงานมากเกินไป ทำให้ไขมันทั้ง 2 ชนิด จึงทำหน้าที่ตรงข้ามกันนั้นเอง​ 

​​    แม้ว่าไขมันสีน้ำตาลที่มีมากในวัยเด็กจะลดลงเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ แต่ดูเหมือนว่ายังมีทางออกในการกระตุ้นการทำงานของไขมันสีน้ำตาล รวมทั้งเปลี่ยนไขมันสีขาวให้เป็นไขมันสีน้ำตาลอีกด้วย​

​​

เราจะเพิ่มไขมันสีน้ำตาล ได้อย่างไร?​
  • กินให้ถูกต้อง

การกินที่ไม่น้อยหรือมากเกินกว่าความต้องการของร่างกาย กระตุ้นให้ไขมันสีน้ำตาลเผาผลาญพลังงานอย่างเป็นปกติ และรักษามวลกล้ามเนื้อในร่างกายให้คงที่

  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ​

คนอ้วนตรวจพบปริมาณไขมันสีน้ำตาลน้อยกว่าคนที่น้ำหนักตัวน้อยกว่า และประสิทธิภาพการทำงานยังน้อยกว่าด้วย มีการศึกษาพบว่า เมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีน้ำหนักลดลง สามารถทำให้การทำงานของไขมันสีน้ำตาลเพิ่มสูงขึ้นได้​

  • เพิ่มการออกกำลังกาย ​

 โปรตีนไอริซิน (Irisin) สามารถเปลี่ยนไขมันสีขาวเป็นไขมันสีน้ำตาลได้ ซึ่งในกลุ่มคนที่ออกกำลังกายมีการสร้างโปรตีนชนิดนี้สูงกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว และปริมาณไอริซิน เพิ่มขึ้นเมื่อออกกำลังกายแบบหนักสลับเบา (High intensity interval training; HIIT) ​ คือการออกกำลังกายสลับกับพักอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อยู่กับความพร้อมของร่างกายแต่ละบุคคล ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ​

  • การปรับอากาศให้เย็นขึ้น​ ​​

การปล่อยให้ร่างกายอยู่ในสภาพอากาศเย็น ช่วยกระตุ้นให้เซลล์ไขมันสีน้ำตาลมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น​

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ​

เพิ่มการรับประทาน พริก เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า เนื่องจากมีสารแคปไซซิน (Capsaicin) และแคปซินอยด์ (Capsinoids) สามารถกระตุ้นการทำงานของไขมันสีน้ำตาลได้ อีกทั้งมีงานวิจัยที่ศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ได้แก่ เคอร์คิวมิน (Curcumin) จากขมิ้นชัน สารสกัดเรสเวอราทรอล (Resveratrol) จากเปลือกองุ่น มัลเบอร์รี่ สามารถทำให้อุณหภูมิพื้นฐานของร่างกายสูงขึ้นได้ ​

การเพิ่มปริมาณและการทำงานของไขมันสีน้ำตาลอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเข้ามาช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินได้ แต่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทานผักอย่างน้อย 50% ของจาน, นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับเราทุกคนที่ยังคงต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ป้องกันการเกิดโรคอื่นๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต​

 

แหล่งที่มา:​

1. จิตรวีณา มหาคีตะ. The Update of Brown Adipose Tissue in Adult Human: Possible Target to Battle Obesity?. Royal Thai Army Medical Journal. 2013:83-92.​

2. Lee P, Smith S, Linderman J, Courville AB, Brychta RJ, Dieckmann W, Werner CD, Chen KY, Celi FS. Temperature-acclimated brown adipose tissue modulates insulin sensitivity in humans. Diabetes. 2014 Nov 1;63(11):3686-98.​

3. Maalouf GE, El Khoury D. Exercise-induced irisin, the fat browning myokine, as a potential anticancer agent. Journal of obesity. 2019;2019.​

4. El Hadi H, Di Vincenzo A, Vettor R, Rossato M. Food ingredients involved in white-to-brown adipose tissue conversion and in calorie burning. Frontiers in physiology. 2019 Jan 11;9:1954.​

5. Townsend K, Tseng Y-H. Brown adipose tissue: Recent insights into development, metabolic function and therapeutic potential. Adipocyte. 2012;1(1):13-24.

Share:

@2020 BDMS Wellness Clinic. All rights Reserved