เช็กความเสี่ยง เลี่ยงอันตรายจากโรคไต
ไตเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของคนเราที่ช่วยในการกรองของเสีย รวมถึงรักษาสมดุลของเกลือแร่ หากไตได้รับความเสียหายไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม ประสิทธิภาพการทำงานของไตก็จะลดลง และร่างกายเสียสมดุลไปโดยที่เราไม่รู้ตัว จนกระทั่งเกิด “โรคไตเรื้อรัง” (Chronic Kidney Disease: CKD)
ในช่วงแรก ร่างกายจะไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาให้เห็นชัดเจน จนกว่าข้างในไตจะถูกทำลาย ถึงจุดที่ไตทำงานได้ลดลงมาก จึงเกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น ภาวะบวม ภาวะโลหิตจาง ภาวะเกลือแร่ในเลือดผิดปกติ โรคไตจึงมักจะถูกขนานนามว่าเป็นฆาตกรเงียบ การตรวจสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อลดการสูญเสียโอกาสสำคัญในการชะลอการเสื่อมของโรคไต โดยมีวิธีการตรวจดังนี้
ค่า Blood Urea Nitrogen (BUN)
BUN เป็นของเสียที่มาจากการสลายของโปรตีนทั้งจากอาหารและระบบเผาผลาญของร่างกาย สารนี้ถูกขับออกผ่านทางไต หากไตของเราทำงานได้น้อยลง ค่านี้ก็จะสูงขึ้น โดยค่าของคนทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 8.40 – 25.70 mg/dL
ค่า Serum Creatinine (sCr)
ครีเอตินีน เป็นของเสียที่เกิดจากกล้ามเนื้อและถูกขับออกผ่านทางไต หากตรวจพบค่าครีเอตินีนในเลือดสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่า ไตทำงานได้ลดลง จนครีเอตินีนคั่งในร่างกาย โดยค่าของคนทั่วไปจะอยู่ระหว่าง 0.55 – 1.02 mg/dL
ค่าอัตราการกรองของไต (eGFR)
eGFR คือปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองที่ไตภายใน 1 นาที สามารถคำนวณได้จากค่าครีเอตินีน อายุ น้ำหนักตัว เพศ และเชื้อชาติ เพื่อบ่งบอกถึงประสิทธิภาพการทำงานของไตและจำแนกระยะของโรคไต โดยคนทั่วไปจะมีค่ามากกว่า 90 mL/min/1.73 m2 และหากมีค่าต่ำกว่า 60 mL/min/1.73 m2 ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการด้านโรคไต เพื่อเข้ารับการรักษา
ค่า Urine Albumin Creatinine Ratio
เป็นการตรวจโปรตีนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ เพื่อบ่งชี้การทำงานของไต เมื่อกลุ่มหลอดเลือดฝอยของไตเสียหาย การเก็บกรองสารต่าง ๆ จึงผิดปกติ จึงเป็นสาเหตุให้โปรตีนรั่วออกมาทางปัสสาวะมากกว่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดยค่าของคนทั่วไปจะน้อยกว่า 30 mg / gm
สำหรับประเทศไทย จากรายงานสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย (ข้อมูลการบำบัดทดแทนในประเทศไทย) ในพ.ศ. 2563 พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 2,274 คน เป็น 2,580 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ของปีมีถึง 19,772 คน
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ป่วยโรคไตยังมักประสบกับความยากลำบากในการเข้าถึงการรักษา เป็นเหตุให้วันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 9 มีนาคมนี้ องค์กรที่เกี่ยวข้องจากทุกภูมิภาคทั่วโลกได้รวมตัวกัน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการบริการ และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไต ซึ่งสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยเองก็มีคำขวัญประจำปีที่ว่า “ตระหนักภัย ใส่ใจไต ป้องกันไว้ เน้นกลุ่มเสี่ยง” ดังนั้นทาง BDMS Wellness Clinic จึงขอร่วมเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงสำคัญในการรณรงค์ให้ทุกคนใส่ใจและรณรงค์ให้ตรวจคัดกรองสุขภาพไตไปด้วยกัน
ด้วยความปรารถนาดี
จาก BDMS Wellness Clinic
LINE: @bdmswellnessclinic
รายการอ้างอิง
1. World Kidney Day Organisation. Chronic Kidney Disease [Internet]. Brussels: International Society of Nephrology; [cited 2023 Jan 15]. Available from: https://www.worldkidneyday.org/facts/chronic-kidney-disease/.
2. CDC. Chronic Kidney Disease Basics [Internet]. Atlanta: Centers for Disease Control and Prevention, U.S. Department of Health & Human Services; [updated 2022 Feb 28; cited 2023 Jan 15]. Available from: https://www.cdc.gov/kidneydisease/basics.html.
3. National Kidney Foundation. Kidney Basics: Understanding Your Lab Values [Internet]. New York: National Kidney Foundation; [cited 2023 Jan 15]. Available from: https://www.kidney.org/atoz/content/understanding-your-lab-values.
4. Mayo Clinic. Microalbumin test [Internet]. Rochester, Minnesota: Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER); 2021 Jan 19 [cited 2023 Jan 15]. Available from: https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/microalbumin/about/pac-20384640
5. อดิสรณ์ ลำเพาพงศ์, อนันต์ เชื้อสุวรรณ. ข้อมูลการบําบัดทดแทนไตในประเทศไทย พ.ศ.2563. [อินเทอร์เน็ต]. กรุงเทพฯ: สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย; 26 ตุลาคม 2564 [เข้าถึงเมื่อ 15 มกราคม 2566]. เข้าถึงได้จาก https://www.nephrothai.org/wp-content/uploads/2022/06/Final-TRT-report-2020.pdf.
Recommended Packages & Promotions
เป็นมากกว่าการตรวจสุขภาพประจำปี มาพร้อมกับรายการตรวจมากกว่า 46 รายการ